เปิด 6 โปรเจกต์ดันแผน AI ประเทศไทย ! 2 กระทรวงใหญ่ อว. และ ดีอี นั่งหัวโต๊ะระดมความเห็นทิศทางการพัฒนา AI ให้ครอบคลุมทุกมิติ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดการประชุมหารือ (ร่าง) โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 – 2570) เพื่อให้เกิดแนวทางดำเนินงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ร่วมกับเครือข่ายเชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ตอบโจทย์ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป โอกาสนี้ นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมในฐานะกรรมการภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล เขตราชเทวี กรุงเทพฯ

1 ปีผ่านไปแผน AI ประเทศไทยทำอะไร ไปถึงไหน ? เผยผลงานแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570 โดย สวทช. และ สดช. ร่วมเป็นเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ
 
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการ AI ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย การจัดหลักสูตรจริยธรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI อย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ สำหรับการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชน ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) เข้าไปขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ทั้งนี้จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรมในโครงการและหลักสูตร AI จำนวน 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ทอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท และที่สำคัญคือจากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ในปี 2022
 
“อย่างไรก็ตาม ดัชนีความพร้อมด้าน AI ปีล่าสุด 2023 ไทยหล่นมาอยู่ในลำดับที่ 37 คณะทำงานจึงร่วมกันวิเคราะห์และสรุปได้เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีดังกล่าวของไทยต่ำลง ได้แก่ 1)Technology Development 2)Human Capital และ 3) Data Representation ทั้ง 3 เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นไฮไลท์ที่ต้องร่วมกันแก้ไขและเติมเต็มระบบนิเวศ AI ของไทย” ดร.ชัย กล่าว

ส่องทิศทาง ร่าง 6 โปรเจกต์นำร่อง ! ขับเคลื่อนแผน AI ประเทศไทย ระยะที่ 2

แผนปฏิบัติการ AI ได้จัดทำโครงการที่สอดรับกับจุดเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI ทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยในระยะที่ 1 มุ่งเน้นกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มการใช้งานและบริการภาครัฐ และกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ สำหรับแผนปฏิบัติการ AI ระยะที่ 2 คณะทำงานได้เข้าสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมการค้า อุตสาหกรรมการค้าและการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรมความมั่นคง กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต จนนำมาสู่โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 -2570) Flagship Projects ชุดที่ 1 ทั้งสิ้น 6 โครงการ ได้แก่
1) โครงการพัฒนาศูนย์กลางเชื่อมโยงและการบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย (Travel Link)
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI เล่าว่า โครงการนี้มุ่งสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อขยายขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก 1) พัฒนาศูนย์กลางการเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) โดยเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ เอกชนหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรายวัน ข้อมูลการใช้จ่ายในแต่ละพื้นที่จากโครงการเที่ยวด้วยกัน สถิติการเยี่ยมเยือน เป็นต้น ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะข้อมูลความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อพื้นที่ โรงแรม บริการ ฯลฯ และข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำ Data Catalog และใช้เครื่องมือพื้นฐาน รวมถึง AI ในการประมวลผลข้อมูลหลายรูปแบบ และสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลผ่านทาง Dashboard และ Infographics 2) พัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว (Attraction Recommendation) ซึ่งเป็นแผนระยะถัดไปของโครงการโดยปัจจุบันยังต้องการข้อมูลด้าน logistic อัตราค่าโดยสารของขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เป็นต้น 3) พัฒนาหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบริการ Chatbots ด้านการท่องเที่ยว ด้วย Generative AI

“ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ ภาครัฐสามารถวางแผนและการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการทรัพยากรท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างเหมาะสม สร้างความยั่งยืนให้กับภาคท่องเที่ยวไทย สำหรับภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลเชิงลึกไปใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อพัฒนาการตลาดและการแข่งขันทางธุรกิจ หรือใช้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า เพื่อพัฒนาบริการ/ผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ด้านนักท่องเที่ยว สามารถวางแผนการท่องเที่ยวที่ตรงกับความพึงพอใจได้อย่างลงตัว และสามารถค้นหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” ดร.ธีรณี กล่าว

ดร.นครินทร์ อมเรศ ผู้อำนวยการ Head of External Affairs และผู้บริหารยุทธศาสตร์ 3 ปี โครงการตรวจจับการธุรกรรมการเงินด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้สมาคมธนาคารไทย อธิบายว่า โครงการนี้จะออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงินต่อประชาชน โดยมุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงกับระบบของผู้ใช้บริการทางการเงินในภาคธนาคาร ตามมาตรา 4 (Central Fraud Registry: CFR) อีกทั้งยังพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI Model ในการตรวจจับและป้องกันการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงิน สามารถตรวจจับความเกี่ยวเนื่องของบัญชี และ/หรือธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย รวมทั้งสามารถกำหนดระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นที่การยกระดับการตรวจจับและการป้องกันเชิงรุกสำหรับการกระทำทุจริตในธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงนำร่องพัฒนากระบวนการและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำธุรกรรมทางการเงิน และต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกภาคการเงิน

“คาดว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดการสูญเสียทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำทุจริต อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถของภาครัฐในการควบคุมดูแลการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน การตรวจสอบและการดำเนินคดีทางกฏหมายเมื่อเกิดการกระทำทุจริต รวมถึงสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพในระบบการเงินของประเทศ ส่งผลต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการใช้บริการทางการเงิน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคเอกชน” ดร.นครินทร์ กล่าว

เพื่อให้ประเทศไทยมีศูนย์ดำเนินงานด้านการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance Center) ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(ETDA) อธิบายถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานของโครงการ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้าน AI Governance, Toolkits ใหม่ๆ รวมถึงมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยสำหรับ Sector หรือ Regulator พร้อมสร้างเครือข่ายทำงานด้านงานวิจัย AI ในประเทศ/ต่างประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาและถ่ายทอดความรู้พร้อมให้คำปรึกษาการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล ทั้งด้านนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน และการกำกับดูแล มีศูนย์ทดสอบ AI Testing สำหรับระบบ/บริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ มีกลไกสนามทดสอบ (Sandbox) แนวคิดการประยุกต์ใช้ AI รวมถึงนวัตกรรมใหม่ รวมถึงสนับสนุนการขยายผลการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลตามแผนปฏิบัติการ AI ประเท 

“โครงการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและเกิดความตระหนักรู้เท่าทันการใช้งาน AI และส่งเสริมการพัฒนาการกำกับดูแลและส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีองค์รวมของภาครัฐผ่านการมีศูนย์กลาง AIGC สำหรับภาคเอกชนจะมีพื้นที่ในการการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น พื้นที่ทดสอบทดลองด้าน AI Ethic issues อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในการผลิต การบริการ และการประกอบการของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างงานและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงการแสดงศักยภาพด้าน AI Governance ให้ต่างชาติยอมรับและเกิดการลงทุนมากขึ้น” ดร.ศักดิ์ อธิบาย

โครงการนี้มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย (LLM) ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความหมายและเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับการใช้ภาษาของมนุษย์ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) อธิบายว่า Thai LLM อาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลภาษาไทยที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายพร้อมทำการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI สำหรับภาษาไทยที่เป็นโมเดลกลางสามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายงานประยุกต์ทั้งในกาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาบุคลากรด้าน AI ในประเทศไทยให้มีความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน AI ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย

“อย่างไรก็ตาม โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ยังอยู่ในช่วงพัฒนาและต้องการการวิจัยเพิ่มเติม ประกอบกับโมเดลเหล่านี้ต้องการข้อมูลจำนวนมหาศาลในการปรับแต่งสำหรับงานเฉพาะด้าน ส่งผลให้โมเดลที่ปรับแต่งแล้วอาจไม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่คาดหวังเพื่อลดความเสี่ยงนี้จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในโดเมนที่ต้องการใช้งาน ควบคู่ไปกับการทดสอบอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มผู้ใช้ นอกจากนี้ ผู้พัฒนาควรพิจารณาเทคนิคอื่น ๆ เพิ่มเติมจากการประมวลผลภาษาด้วยโมเดลขนาดใหญ่ เช่น เทคนิคการสืบค้นเอกสาร เพื่อเพิ่มความแม่นยำของผลลัพธ์ ” ดร.กอบกฤตย์ กล่าวเสริม
โครงการนี้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติและส่งเสริมการนำไปใช้งาน โดย ดร.เจษฎา กาญจนะ นักวิจัยเนคเทค สวทช. อธิบายว่า ข้อมูลชีวมิติที่มุ่งเน้น ได้แก่ ภาพถ่ายลายม่านตา, เสียงพูด, ภาพถ่ายใบหน้า, ภาพเคลื่อนไหวใบหน้าพร้อมเสียงพูด รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับการปลอมแปลงข้อมูลชีวมิติ และบริการทดสอบระบบที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลด้วยข้อมูลชีวมิติตามเกณฑ์มาตรฐานฯ (เช่น ขมธอ. 30-2565) “นำไปสู่การยกระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ของประเทศไทย ใช้อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับประชาชน อีกทั้งภาครัฐยังสามารถยกระดับระบบความปลอดภัยของระบบการยืนยันตัวตนของภาครัฐ และสามารถประยุกต์ใช้ระบบการยืนยันตัวตนดังกล่าวกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างบูรณาการ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้าให้กับภาคเอกชนจากการมีระบบการยืนยันตัวตนดิจิทัลที่ปลอดภัย รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวมิติอีกด้วย” ดร.เจษฎา กล่าว
คุณวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล ประธานคณะทำงาน AI for industry สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าว่า โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการขยายผลวิจัยและพัฒนาและยกระดับ AI-based Machine Vision ในการเพิ่มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การแข่งขันในระดับสากล โดยนำร่องนำเทคโนโลยี AI-based Machine Vision มาช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้า อีกทั้งยังส่งเสริมการขยายผลและยกระดับแพลตฟอร์ม Visual Inspection สัญชาติไทยที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยเน้นเพื่อ AI sovereignty หรือ เอกราชของ AI

ในช่วงท้ายของการประชุมฯ ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น แนวทางการส่งเสริมและการขับเคลื่อนโครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ดำเนินการโดย นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

โดยผู้เข้าร่วมจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผู้แทนจากคณะกรรมการขับเคลื่อนแผน AI ประเทศไทย รวมถึงสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อ 6 โครงการนำร่องดังกล่าว รวมถึงประเด็นการพัฒนา AI ในประเทศ เป็นประโยชน์ในการดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยทำให้เกิดความร่วมมือ และสร้างภาคีเครือข่าย ในการดำเนินการจัดทำโครงการสำคัญ ๆ และ สามารถมองเห็นผู้มีส่วนร่วมที่จะเข้ามาเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อน หน่วยงานสนับสนุน และหน่วยงานผู้ใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้ระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยมีความร้อยเรียงและเข้มแข็งมากขึ้น

Share to...

Facebook
Twitter
Email