3 คำถามที่ ‘ภาครัฐ’ ต้องตอบให้ได้ ก่อนนำ GenAI ไปใช้ในองค์กร

แม้ Generative AI (GenAI) เพิ่งจะได้รับความสนใจจากทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว แต่มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของเทคโนโลยีนี้จะสูงถึงหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของ (GenAI) ก็เริ่มสร้างความกังวลให้กับธุรกิจและภาครัฐทั่วโลก สำหรับภาครัฐ GenAI สามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันภาครัฐยังต้องแบกรับภาระในการติดตามผลกระทบด้านลบของเทคโนโลยีนี้ และการกำหนดแนวทาง กฎระเบียบที่เหมาะสม รัดกุมสำหรับการใช้งาน GenAI  ภายในประเทศ 

จากรายงานของ McKinsey & Company ได้สรุป 3 คำถามที่ภาครัฐต้องพิจารณาเพื่อปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของ GenAI ในองค์กร ได้แก่ 

1) ภาครัฐจะรับมือกับความเสี่ยงจาก GenAI ได้อย่างไร?

ปัจจุบันความเสี่ยงของ GenAI ปรากฏอย่างเห็นได้ชัดทั้งความไม่แน่นอน (unpredictability) ความไม่แม่นยำ (inaccuracy) และอคติ (bias) ผลลัพธ์บางส่วนจาก genAI อาจมีข้อมูลผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นความจริง หรือที่เรียกว่า “hallucinations” (อธิบายง่าย ๆ คือ หลอนไปเอง) อีกทั้งยากที่จะอธิบายตรรกะที่ใช้ในการตัดสินใจ และผลลัพธ์ของGenAI  รวมถึงความรับผิดชอบไม่ชัดเจน หากเกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิด ส่งผลให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการบริการภาครัฐที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐเผชิญยังความเสี่ยงในระดับที่แตกต่างจากภาคเอกชน หากมีการนำ GenAI ไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ทำลายความมั่นคงของชาติ ทำให้ข้อมูลภาครัฐรั่วไหล ไปจนถึงการโจมตีทางไซเบอร์ 

ดังนั้น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน ได้ริเริ่มสร้างกรอบกฎระเบียบและนโยบายสำหรับ AI โดยบางแห่งขยายกฎระเบียบที่มีอยู่ให้ครอบคลุมถึง GenAI ด้วย ด้านสหภาพยุโรป (EU) เป็นผู้นำในการออกร่างกฏระเบียบ AI หรือ The AI Act เป็นฉบับแรกของโลก อีกทั้งหลายหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย คำสั่ง และนโยบายด้าน AI เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากระบบ AI ด้วยการเน้นย้ำถึงด้านลบของ AI กาารเปิดเผยข้อมูลการใช้ AI ในภาครัฐ และแก้ไขปัญหาจริยธรรมในการใช้ AI

อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และรัฐบาลจำเป็นต้องปรับกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ GenAI บางหน่วยงานเริ่มสร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่องให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะผู้ใช้งาน (User) เกี่ยวกับความเสี่ยงของ GenAI และวิธีรับมือ เช่น สำนักงานดิจิทัลและข้อมูลกลางของสหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่คู่มือสำหรับข้าราชการพลเรือนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ GenAI อย่างปลอดภัย ประเทศออสเตรเลียได้ให้แนวทางเบื้องต้นกับหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับการใช้แพลตฟอร์ม GenAI อย่างมีความรับผิดชอบ

2) ภาครัฐจะเริ่มปรับเปลี่ยนการให้บริการประชาชนด้วย GenAI ได้อย่างไร?

ในฐานะผู้ให้บริการสำคัญ ภาครัฐมักให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการให้บริการผ่านเทคโนโลยี AI กรอบแนวคิด “4Cs” ของเรา เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี กรอบนี้ประกอบด้วยหมวดหมู่หลัก 4 ด้านที่ใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่

Content summarization and synthesis – การสรุปและสังเคราะห์เนื้อหา: การ ใช้ GenAIดึงข้อมูลสำคัญจากแหล่งความรู้ขนาดใหญ่ ตัวอย่างแอปพลิเคชัน “Pair” ของ The Government Technology Agency (GovTech) สิงคโปร์ ที่สรุปข้อความและสร้างรายงานสำหรับใช้ภายใน

Coding and software – การเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์: การใช้ GenAI ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ช่วยในการเขียนโค้ดและทดสอบอัตโนมัติ เช่น กระทรวงการคลัง (HM Treasury) ของสหราชอาณาจักร กำลังทดสอบ GitHub Copilot เครื่องมือ AI ที่ช่วยแนะนำการเขียนโค้ดเพื่อเร่งการพัฒนาซอฟต์แวร์

Customer engagement – การมีส่วนร่วมกับลูกค้า: การใช้ GenAI สนับสนุนการบริการประชาชน เช่น การใช้แชทบอทเพื่อตอบคำถามหรือปรับแต่งบริการให้กับประชาชน ตัวอย่าง แชทบอท Lumi ของเมืองไฮเดลเบิร์ก เยอรมนี ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น

Content generation – การสร้างเนื้อหา: การใช้ GenAI ช่วยสร้างเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น อีเมล โพสต์โซเชียลมีเดีย สัญญา และข้อเสนอ เป็นต้น เช่น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พัฒนา Acqbot ซึ่งเป็นเครื่องมือเขียนสัญญาด้วย AI เพื่อเร่งกระบวนการจัดซื้อ

การนำ GenAI มาใช้สามารถปรับกระบวนการบริการรัฐบาลในหลายด้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การสาธารณสุข การทหารและข่าวกรอง และการพัฒนาเมือง หน่วยงานภาครัฐต่างๆ นำ GenAI มาใช้ทั้งในงานประชาสัมพันธ์และงานภายใน ผ่านกรอบแนวคิด “4Cs” ตัวอย่างเช่น GenAI สามารถช่วยประชาชนค้นหาบริการภาครัฐและใช้งานระบบแปลภาษาแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยหน่วยงานภายในร่างแบบเนื้อหาสร้างสรรค์ เช่น สุนทรพจน์และจดหมายราชการ ย่อเอกสารราชการที่ซับซ้อน และจัดทำรายงานทางการเงินและตัวชี้วัดสำคัญได้อย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา

3) ภาครัฐบาลควรพัฒนาโมเดลพื้นฐานระดับประเทศสำหรับ GenAI หรือไม่

ภาครัฐบางแห่งอาจมีความต้องการที่จะพัฒนาโมเดลพื้นฐาน (foundation models) ซึ่งเป็นโมเดลหลักในการพัฒนา GenAI แต่ต้องตระหนักว่าความพยายามนี้ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก โดยมีอุปสรรคสำคัญในการพัฒนามีหลายประการ เช่น ความพร้อมของบุคลากรที่มีความสามารถในการสร้าง เทรนด์ และรักษา GenAI, คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ, ประสบการณ์ในการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างและให้บริการโมเดลพื้นฐาน GenAI เป็นต้น 

ปัจจุบันงานด้านโมเดลเหล่านี้ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากภาคเอกชนเพียงไม่กี่แห่ง (เช่น Cohere, Google, Meta และอื่น ๆ) และโครงการโอเพนซอร์สที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว (เช่น Hugging Face, Stability AI และ Alpaca)

เมื่อเทียบกับผู้เล่นเทคโนโลยีระดับโลกในภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐยังขาดความสามารถในการพัฒนาโมเดลพื้นฐานควบคู่กับการจัดการความเสี่ยง เช่น การละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์อาจทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของโมเดลพื้นฐานถูกฟ้องร้อง เนื่องจากความสามารถในการระบุแหล่งที่มาที่เหมาะสมของ GenAI ยังมีข้อจำกัด ยิ่งทำให้การตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้นทำได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผลกระทบทางกฎหมายยังเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ถูกดัดแปลง ทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง และวิดีโอ ที่ผู้ไม่หวังดีอาจใช้ในการคุกคาม ข่มขู่ หรือทำลายบุคคลและองค์กร ผู้ใช้สามารถกระทำการที่ไม่สุจริตหรือผิดกฎหมายโดยใช้ประโยชน์จากอคติที่มีอยู่ภายในข้อมูลที่ใช้เทรนด์โมเดล ดังนั้น รัฐบาลบางแห่งจึงเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ระดับโลกเพื่อเข้าถึงโมเดลที่มีอยู่และปรับแต่งให้เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง 

8 ขั้นตอนเริ่มต้นใช้งาน GenAI สำหรับหน่วยงานภาครัฐ

1. กำหนดระดับความเสี่ยงขององค์กร
หลังจากระบุพารามิเตอร์ความเสี่ยงของหน่วยงานแล้ว ต้องวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ GenAI ด้วยการผสมผสานนโยบาย แนวทาง และการสร้างความตระหนักภายในองค์กร

2. ระบุและจัดลำดับความสำคัญของการใช้ GenAI
ไม่ใช่ทุกงานที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี GenAI ดังนั้น ภาครัฐควรจัดลำดับความสำคัญของการใช้งาน โดยหลีกเลี่ยงการใช้งานที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่สามารถยอมรับข้อผิดพลาดได้

3. เลือกใช้โมเดลพื้นฐานและอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีตามความจำเป็น
หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วย LLM สำเร็จรูปและปรับแต่งด้วยข้อมูลองค์กรและผสานรวมกับระบบภาย ในกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก คือ หน่วยงานภาครัฐพัฒนาและเทรนด์โมเดลใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีแรงบันดาลใจหลัก ๆ คือ แรงผลักดันในการพัฒนาทรัพย์สินของชาติ หลีกเลี่ยงประเด็นด้านอธิปไตยข้อมูล หรือ สิทธิ์การเป็นเจ้าของข้อมูล (data-sovereignty) หรือลดการพึ่งพาบริษัทเทคโนโลยีของภาคเอกชน

4) บุคลากรต้องมีทักษะและบทบาทที่จำเป็นสำหรับการใช้ GenAI

“หัวหน้าฝ่าย AI” เป็นหนึ่งในตำแหน่งงานที่มาแรงที่สุด ภาครัฐจำเป็นต้องว่าจ้างบุคลากรในตำแหน่งนี้ที่สามารถประสานงานกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ GenAI ทั้งหมด และมั่นใจได้ว่าหากมีความเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้น จะได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเช่น AI Engineer , AI ethics officers, Prompt Engineer เป็นต้น

5. พัฒนาแอปพลิเคชัน GenAI ร่วมกับผู้ใช้งานปลายทาง (end users)
GenAI เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานปลายทางตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญ ไม่เพียงเพื่อให้ความรู้ด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน แต่ยังได้รวบรวมข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงความแม่นยำและประสิทธิภาพการตอบสนองของ LLM อีกด้วย

6) มนุษย์ยังจำเป็นต้องมีส่วนร่วม (Keep humans in the loop)
หน่วยงานภาครัฐควรให้มนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบการใช้งาน GenAI และใช้ตามโมเดลที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ใช้งานเพื่อติดตามหรือประเมินผล จนกว่าเทคโนโลยี GenAI จะได้รับการพัฒนาจนมีความสมบูรณ์แบบและมีกฎระเบียบข้อบังคับใช้เข้ามาควบคุม

7) ออกแบบแผนการสื่อสารที่ครอบคลุม
ระบุข้อจำกัดความรับผิดชอบที่จำเป็นไว้ในการสื่อสารทั้งหมดเพื่อชี้แจงข้อจำกัดของกรณีการใช้งาน GenAI เพื่อส่งเสริมการนำ GenAI ไปใช้อย่างปลอดภัย

8) เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ
72% ขององค์กรชั้นนำพบว่าการจัดการข้อมูลเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการขยายการใช้งาน AI ดังนั้น ภาครัฐควรเริ่มต้นจากกลุ่มงานเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายสเกลตามความเหมาะสม

Share to...

Facebook
Twitter
Email