สรุป 10 ประเด็น AI กับโลกการทำงานในอนาคต จากรายงาน “Gen-AI: Artificial Intelligence and the Future of Work” โดย IMF

สรุป 10 ประเด็นผลกระทบของ AI กับโลกการทำงานในอนาคต
จากรายงาน “Gen-AI: Artificial Intelligence and the Future of Work” โดย IMF

  1. การประยุกต์ใช้ AI ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดแรงงานทั่วโลก และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละประเทศ ทั้งด้านดีที่ช่วยเพิ่ม productivity แต่ในทางกลับกันอาจทำให้บางตำแหน่งงานถูกแทนที่ด้วย AI 

  2. AI ส่งผลต่อตำแหน่งงานทั่วโลกอย่างมาก โดยประเทศพัฒนาแล้วมักได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและลบมากกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทำให้ช่องว่างทางสัมคมและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างประเทศยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

  3. ผู้หญิงและบุคลากรที่มีการศึกษาสูง เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับ AI มากขึ้นจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จาก AI มากขึ้นตามไปด้วย บุคลากรที่มีอายุอาจต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีนี้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงานร่วมกับ AI ได้ดีกว่า

  4. นอกจาก AI จะทำให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นแล้วยังเปลี่ยนโฉมหน้าของการกระจายความมั่งคั่งและรายได้อีกด้วย โดยสัดส่วนของทุนต่อแรงงานและประสิทธิภาพการทำงานที่มากขึ้นจาก AI มีศักยภาพในการยกระดับค่าจ้างให้กับแรงงานหลากหลายระดับ และมีแนวโน้มมากขึ้นหาก AI สามารถเสริมทักษะแรงงานได้ในหลายบทบาท และเพิ่ม productivity ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

  5. การพัฒนาของ AI จะกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการแรงงานใหม่ ๆ ซึ่งอาจช่วยชดเชยผลกระทบจากการถูกแทนที่ด้วย AI อย่างไรก็ตามการถูกแทนที่ดังกล่าวแตกต่างจากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติในอดีต (automation waves) ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานทักษะกลางเป็นหลัก แต่ยุคของ AI บุคลากรในทุกระดับมีความเสี่ยงในการถูก AI แทนที่ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่บุคลากรที่มีรายได้สูง และบุคลากรที่มีทักษะเชี่ยวชาญ 

  6. โอกาสที่ AI จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้กับงานนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับระดับรายได้ กล่าวคือ “งานของคนที่มีรายได้สูง มีแนวโน้มที่จะใช้ AI เข้ามาเสริมประสิทธิภาพได้มากกว่างานที่มีรายได้ต่ำ” ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำของรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะกำหนดสิทธิ์ครอบครองเทคโนโลยี AI และนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดผลกระทบสุดท้ายต่อการกระจายรายได้และความมั่งคั่งในประเทศ

  7. ภาครัฐของต้องริเริ่มดำเนินการเชิงรุกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงประโยชน์จาก AI อย่างเท่าเทียม โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีนี้อาจจะเกิดปัญหาคนตกงานและการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

  8. นโยบายต้องส่งเสริมการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีธรรมมาภิบาล ฝึกฝนแรงงานรุ่นใหม่ให้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีใหม่ สามารถร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนโยบายช่วยเหลือแรงงานปัจจุบันปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี 

  9. การใช้งานและเชื่อมต่ออย่างไร้พรมแดนของ AI ยิ่งขยายความท้าทายด้านจริยธรรมและความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้มีการร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ โดย 28 ประเทศและสหภาพยุโรป (EC) ได้ลงนามข้อตกลงด้าน AI ที่เรียกว่า “ปฏิญญาเบลตชลีย์ (Bletchley Declaration)” 

  10. แต่ละประเทศมีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาของ AI ที่ไม่เท่ากัน ทำให้มีความจำเป็นในการกำหนดนโยบายสากล (harmonized global principles) และออกกฎหมายเฉพาะภายในประเทศ (local legislation) เพื่อให้การใช้ประโยน์ของ AI เป็นไปอย่างเหมาะสม

Share to...

Facebook
Twitter
Email