นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 กำหนดทิศทางพัฒนา AI ไทยสู่ระดับภูมิภาค เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/2568  ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสำคัญเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของประเทศ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์), ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ), ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ

นโยบายและวิสัยทัศน์: การใช้ AI เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ในฐานะประธานการประชุม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมกำหนดเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านการพัฒนา AI ในระดับภูมิภาค โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ (AI Literacy) เกี่ยวกับ AI มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความพร้อมในการปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ และทิศทางในอนาคต

ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติฯ ระยะ พ.ศ. 2565 – 2567 นำเสนอโดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีความก้าวหน้าที่สำคัญใน 4 ด้านหลัก อันเป็นพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป ได้แก่:

  1. ด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance): การประกาศใช้หลักเกณฑ์จริยธรรม AI, การจัดตั้งศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AIGC) และการทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติ เพื่อสร้างกรอบการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ
  2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (AI Infrastructure): การให้บริการศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (LANTA Supercomputer) และการพัฒนา National AI Service Platform ซึ่งรวบรวมเครื่องมือ AI ที่พัฒนาในประเทศไทยกว่า 76 บริการ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากร AI ประสิทธิภาพสูง
  3. ด้านการพัฒนากำลังคน (AI Human Capital): การดำเนินการพัฒนาบุคลากรด้าน AI กว่า 10,000 คน ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการบรรจุหลักสูตร AI ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน, แผนส่งเสริม AI ในระดับอุดมศึกษา และกิจกรรม AI Bootcamp
  4. ด้านการวิจัยและนวัตกรรม (AI Research & Innovation): การมุ่งเน้นการพัฒนาในภาคส่วนสำคัญ เช่น การแพทย์ ผ่าน Medical AI Data Platform และการใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูล TPMAP เพื่อสนับสนุนกลุ่มด้อยโอกาส

อีกทั้งที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence 2025 และเห็นชอบกรอบการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National AI Program) พร้อมทั้งให้นำข้อเสนอในที่ประชุมไปพิจารณาต่อ

จากการประชุม คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากำลังคนด้าน AI ให้มีจำนวนมากเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับเป้าหมายที่จะต้องมีการสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรที่เป็น AI User ต้องไม่น้อยกว่า 10,000,000 คน AI Professional ไม่น้อยกว่า 90,000 คน และ AI Developer ไม่น้อยกว่า 50,000 คน ภายในเวลาสองปี

ในประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ในฐานะกรรมการและเลขานุการร่วมฯ กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้ร่วมมือ กับไมโครซอฟท์พัฒนาหลักสูตรด้าน AI ในทุกระดับ โดยจะถูกนำเข้าสู่คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System) สามารถนำหน่วยกิตที่ได้ไปนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ในระดับอุดมศึกษาได้ เป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับคนไทย

ด้านศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวเสริมว่า “นโยบาย ‘อว. for AI’ ของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ในการขับเคลื่อนด้าน AI เพื่อพัฒนากำลังคนนั้น AI สามารถทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนในหลากหลายวิชาที่มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมผู้เรียนได้เป็นรายบุคคล ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพของตนเอง และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยอาจจะเริ่มต้นในวิชาภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์ก่อนได้”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ยังเสนอให้บูรณาการแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เข้ากับแผนปฏิบัติการด้าน AI แห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งด้านข้อมูล และ AI ของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยชี้ว่า AI เปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะนำ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยต้องระบุให้ชัดเจนถึงประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก่อน เช่น การนำ Big Data และ AI มาใช้ในภาคส่วนสำคัญอย่าง สาธารณสุข การท่องเที่ยว หรือการศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นให้มีแนวทางการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ จีพียู และการพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เปิด (Open Source AI Platform) ให้เพียงพอเพื่อส่งเสริมการขยายตัวของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในราคาที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Bank) ที่จะรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา AI ในสาขาต่าง ๆ ในส่วนข้อมูลภาครัฐ จะส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐปรับตัวให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดภายในปี 2569 คาดว่าการลงทุนด้านโครงสร้างเหล่านี้ จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาทโดยเป็นการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศประกอบกัน

สำหรับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI ในงานธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น จะมุ่งเน้นสาขาที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมเป็นหลัก เช่น การสาธารณสุข การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม เป็นต้น ซึ่งการประยุกต์ใช้ AI จะส่งผลให้การแพทย์ของไทยมีประสิทธิภาพและยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลในอาเซียนได้ ยกระดับการท่องเที่ยวทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่าย อีกทั้งการใช้ AI ด้านการเกษตรจะทำให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลผลิตที่สูงขึ้น และสามารถทำงานด้านการพาณิชย์และตลาดอย่างตรงเป้าอีกด้วย ซึ่งคาดว่าการสนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI ในด้านต่าง ๆ จะส่งผลดีต่อบริการสาธารณสุข อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อเร่งการประยุกต์ใช้ AI รัฐบาลจะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศเพื่อบูรณาการการทำงานด้าน AI ในแต่ละสาขาร่วมกับภาคเอกชนอย่างเป็นระบบต่อไป

Share to...

Facebook
Twitter
Email