สัมภาษณ์ | ดร.ชัย วุฒิวิวิฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช.
บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
วิดีโอสัมภาษณ์ | ศิริพร ปานสวัสดิ์ ศศิวิภา หาสุข
หลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่มุมเบสิคที่ใคร ๆ ก็ล้วนเคยโดน AI ป้ายยา อยู่ดี ๆ โฆษณาสินค้าที่หมายตาไว้ก็ผุดขึ้นมาให้เห็นแบบรัว ๆ ทุกแพลตฟอร์ม หรือ มุมล้ำ ๆ ซึ่งไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ อย่าง ChatGPT ที่ขึ้นแท่นแอปพลิเคชันซึ่งเติบโตเร็วที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อยหลังการเปิดตัวเพียง 5 วัน ด้วยความชาญฉลาดของแชตบอทที่ล้ำไปกว่าถามอะไรก็ตอบได้ แต่ยังสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ ครีเอจไอเดียใหม่ๆ เป็นเลขาส่วนตัว ช่วยเทรดหุ้น ไปจนถึงเขียนโปรแกรม !
ท่ามกลางข่าวคราวความสามารถของ AI ที่ทำให้คนทั่วโลกใจสั่น ความกลัวที่จะถูกเทคโนโลยีเลื่อยขาเก้าอี้วนกลับมาอีกครั้ง ตัดภาพมาที่วงการ AI ของไทยซึ่งเพิ่งประกาศเปิดตัว “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ” บทความนี้ เราชวน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ร่วมถอดรหัสแผน AI ประเทศไทย ตอบทุกคำถามที่คุณสงสัย ส่วนแผนนี้จะ “ช้าไปหรือไม่อย่างไร” อย่าเพิ่งตัดสินใจ หากคุณยังไม่ได้อ่านบทความนี้
ทำไมประเทศไทยต้องมีแผน AI แห่งชาติ
ความสามารถของ AI ที่สั่นสะเทือนไปทุกวงการ ตั้งแต่ช่วยทำให้เกิดนวัตกรรม พัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและ GDP ของเศรษฐกิจโลก ทำให้ตัวเลขการลงทุนด้าน AI พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปี 2030 เศรษฐกิจทั่วโลกด้าน AI จะเติบโตแตะ 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเอเชียจะมีส่วนในการเติบโตดังกล่าวกว่า 9 ล้านล้านเหรียญ ที่น่าสนใจ คือ กว่าร้อยละ 55 ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นนี้จะมาจากการพัฒนาสกิลของบุคลากรด้าน AI ในช่วงปี 2007 – 2030 [1]
คำถามต่อมา คือ แล้วประเทศไทยจะมีส่วนในการเติบโตเศรษฐกิจ AI นี้ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องกล่าวก่อนว่า ปัจจุบันกว่า 69 ประเทศทั่วโลกล้วนมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน AI ของประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 ของ GDP โลก [2]
ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ซึ่งปี 2021 – 2022 ที่ผ่านมา สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เผยว่า Startup ด้าน AI ของไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 25% ประมาณ 45,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี ซึ่งเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมด้านไอที ฮาร์ดแวร์ หรือ ซอฟต์แวร์ถึง 12.5 เท่า [3] แม้จะเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ประเทศไทยยังขาดแผนในการดำเนินการที่ชัดเจนด้าน AI สะท้อนผ่าน Government Artificial Intelligence Readiness Index หรือดัชนีความพร้อมของรัฐบาลไทยในด้านปัญญาประดิษฐ์ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 60 จาก 172 ประเทศ [4]
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีแผนปฏิบัติการด้าน AI เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาลงทุนด้านเทคโนโลยี AI ในระยะยาว และเกาะขบวนเศรษฐกิจใหม่ของโลกที่มี AI เป็นศูนย์กลาง รวมถึงสร้างระบบนิเวศ AI ในระดับประเทศที่มีการกำกับดูแลให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ AI ปกป้องความปลอดภัย สิทธิส่วนบุคคลของประชาชน
แผน AI ประเทศไทยแตกต่างอย่างไร
แต่ละประเทศมีการกำหนดแผนปฏิบัติการ AI ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ แต่ความโดดเด่นของแผน AI ประเทศไทย คือ “การนำ AI มาใช้ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน” แน่นอนว่าทุกคนทราบดีถึงศักยภาพของ AI ต่อบริบทต่าง ๆ ในโลก เราพูดถึงตัวเลขในเชิงเศรษฐกิจ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และอยู่ระหว่างการบ่มเพาะอีกมากมาย จากความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นของ AI
แต่ความท้าทายสำคัญที่แผน AI ของไทยพยายามตอบโจทย์ คือ AI จะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างทางสังคมไทยได้อย่างไร หรือ เราจะสามารถหาจุดสมดุลระหว่างคนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้กับคนที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ดร.ชัย กล่าว
ดังนั้น แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย จึงกำหนดวิสัยทัศน์ ์: “ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570” ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ที่จะมาซับพอร์ตจุดแข็งและเติมเต็มองค์ประกอบที่ขาดของ AI ประเทศไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
ในเทรนด์ของการสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 เรามักได้ยินคำว่า “Digital Literacy” คือ ทักษะในการเข้าใจ และใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มาในยุคที่ AI ครองตลาดและกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของคนแทบทุกกลุ่ม น้อยคนที่จะไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ หรือใช้งานผลิตภัณฑ์ AI เพียงแต่จะรู้หรือไม่ว่ากิจกรรมหลาย ๆ อย่างในชีวิตประจำวันมี AI อยู่เบื้องหลังเท่านั้น เมื่อ AI เข้ามาใกล้ชิดผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ สร้างผลกระทบทั้งแง่บวก และ แง่ลบ ในยุครุ่งเรืองของ AI ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากเรื่องราวศักยภาพ ประสิทธิภาพของ AI แล้ว เรายังได้เห็นข่าวคราวการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิด ปราศจากความรับผิดชอบ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล มีอคติ ไปจนถึง กระทำการผิดกฏหมาย ดังนั้น ยุทธศาสตร์นี้จึงเตรียมพร้อมสื่อสารให้ประชาชนไทยไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน เกิดความตระหนักด้าน AI ด้วยการสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนด้วย AI นั้น ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจเรื่องของ AI ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์ที่เป็นสากลอย่างทั่วถึงกัน
นอกจากนี้ เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่น ปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน และส่งเสริมการลงทุนธุรกิจ AI ทั้งภายในและระดับสากล การบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ โดยทำการศึกษาทิศทาง แนวโน้ม และผลกระทบของเทคโนโลยี AI ในมิติต่าง ๆ เพื่อพัฒนาออกกฏหมาย หรือ มาตรฐานต่าง ๆ ให้เท่าทัน สอดคล้องกับสากล เหมาะสมกับบริบทของประเทศ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและใช้งาน AI ในระยะยาว เป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ AI ในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในระดับสากล รวมถึงการมีแผนรับมือรองรับผลกระทบจากเทคโนโลยี AI ในอนาคต
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความเก่งกาจของ AI ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง แต่มีเทคโนโลยีอีกหลากหลายเป็นองค์ประกอบ โดยหัวใจของ AI นั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังประมวลผลมหาศาล อัลกอริทึม และ ที่ขาดไม่ได้ คือ ข้อมูล ยุทธศาสตร์นี้จึงมองเรื่องของการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล การประมวลผลและคำนวณขั้นสูง อย่าง Data Center, Supercomputer เป็นต้น และเตรียมความพร้อมด้านธรรมมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) โดยเฉพาะข้อมูลภาครัฐซึ่งมีความสำคัญในการนำข้อมูลมาใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง พัฒนาแพลตฟอร์มโซลูชันการให้บริการ AI ที่จะเป็นมาร์เก็ตเพลสผลิตภัณฑ์และบริการด้าน AI ในระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายผลการใช้งาน AI ตอบโจทย์การบริการอย่างมืออาชีพทั้งภายในและต่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใด ๆ ในโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะ AI นั้นรวดเร็วมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันการก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวท้าทายพอ ๆ กับการก้าวสู่ผู้นำกระแสเทคโนโลยีเหล่านั้น ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนา AI แล้ว ยุทธศาสตร์นี้ยังมุ่งสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ (Global Network) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี มาตรฐาน และการประยุกต์ใช้งาน ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สนับสนุนการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศอีกด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์
เมื่อทั่วโลกยังได้รับประโยชน์ และเข้าถึงเทคโนโลยี AI อย่างไม่เท่าเทียมกัน AI มักเติบโตและได้รับการใช้งานในประเทศเศรษฐกิจ หรือ หัวเมืองใหญ่ ๆ เช่นเดียวกันกับ บุคคลากรทางด้าน AI ที่มักรวมตัวอยู่ในสถาบันการศึกษายักษ์ใหญ่ สถาบันวิจัยระดับประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะทำอย่างไรให้เกิดระบบนิเวศที่จะสามารถสร้างบุคลากรรุ่นใหม่มารองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ยิ่งไปกว่านั้นความเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะกระทบกับตำแหน่งงานในไทยกว่า กว่าร้อยละ 95 โดยมากกว่าร้อยละ 70 เป็นงานที่มีโอกาสถูกแทนที่ด้วย AI ซึ่งเรียกว่าเป็น “งานที่มีความเสี่ยงสูง” และปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานเสี่ยงสูงอยู่ราว 8.3 ล้านคน [4]
ดังนั้น ยุทธศาสตร์นี้จะส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะและองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ให้เหมาะสมตามกลุ่มและช่วงวัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน (AI Literacy) เช่น การพัฒนาหลักสูตรที่รองรับความต้องการบุคลากรด้าน AI ของประเทศสำหรับนักเรียนนักศึกษา การฝึกพัฒนาทักษะของกลุ่มแรงงานและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้รองรับความต้องการในประเทศ ยกระดับให้มีทักษะการทำงานร่วมกับ AI หรือ การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อให้กลุ่มนักพัฒนาสามารถสร้างและผลิตสินค้าและบริการที่ใช้ AI สัญชาติไทยในเวทีโลก รวมถึงสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนวิจัย เพื่อสร้างบุคคลากรที่มีทักษะ ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูง เพื่อเป็นกำลังหลักในการวิจัยพัฒนาความสามารถของ AI และเทคโนโลยีขั้นสูง รองรับการเติบโตของธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งยังสนับสนุนให้นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนากลไกความร่วมมือ สร้างเครือข่ายการวิจัยกับต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ในยุคที่เทคโนโลยี และ นวัตกรรมดิจิทัล ใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการตลาดที่มีความต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ด้าน AI จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ AI ประเทศไทยตกขบวนความก้าวหน้าเหล่านั้น หรือเป็นเพียงผู้นำเข้าและใช้งาน
ยุทธศาสตร์นี้จึงสนับสนุนให้มีการกำหนดเป้าหมายและแผนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมขั้นสูง (Frontier Research) และเทคโนโลยีฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Core Technology) ที่เหมาะสมกับการใช้งานจริงในประเทศ ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และต้องตอบโจทย์ความต้องการจริงที่ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ หน่วยงานรัฐ สามารถนำไปใช้งาน เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม รวมถึงต้องมีการแชร์องค์ความรู้ในรูปแบบระบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) สนับสนุนให้ Startup หรือ SME สามารถนำนวัตกรรมไปต่อยอดได้โดยง่าย รวดเร็ว ลดระยะเวลา และงบประมาณในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการต่อสู่ตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและเอกชน
การผลักดันจากภาครัฐและเอกชนเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ยุทธศาสตร์นี้จะส่งเสริมการนำ AI เข้ามาใช้กับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย สามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้งานในธุรกิจได้ ผ่านมาตรการกระตุ้นจูงใจ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี รวมถึงการพัฒนา Sandbox ให้ผู้ประกอบการได้ทดสอบ ทดลองทำให้เกิดความมั่นใจ และสามารถติดตามผลกระทบทั้งทางบวกและลบของการประยุกต์ใช้ AI และพัฒนาไปสู่การใช้งานจริงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างให้เกิด AI Startup ในประเทศเพิ่มขึ้น
ล่าสุด Oxford Insights ได้ประกาศดัชนีความพร้อมของรัฐบาลในด้านปัญญาประดิษฐ์ในปี พ.ศ. 2565 หรือ Government Artificial Intelligence Readiness Index 2022 [5] โดยประเทศไทยได้ขยับขึ้นสู่ลำดับที่ 31 จากทั้งหมด 181 ประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมและชัดเจนของแผนปฏิบัติการด้าน AI แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยฯ ท้ายที่สุดนี้ไม่ว่าคุณจะคิดว่าแผนปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นช้า เร็ว อย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ความถูกต้อง เหมาะสม และเข้ากับบริบทการใช้งานภายในประเทศ ตอบโจทย์ stakeholder ด้าน AI ทุกกลุ่มของไทย เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศ และร่วมกันพัฒนา AI ไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตคนไทย
ไม่พลาดทุกเรื่องราวเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ AI ประเทศไทย คลิก
[1] Sizing the prize What’s the real value of AI for your business and how can you capitalise?
[2] 50 National AI Strategies – The 2020 AI Strategy Landscape
[3] “มาตรฐาน AI” สำคัญอย่างไร จำเป็นแค่ไหน กับวงการ AI ประเทศไทย
[4] แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)