จุดยืนของ AI for Thai บนระบบนิเวศ AI และ แผนปฏิบัติการ AI ของประเทศ

ถึงแม้ว่าเราจะมีผลิตภัณฑ์และบริการด้าน AI เยอะแค่ไหน แต่ธุรกิจขนาดเล็ก Startup ไปจนถึงคนทั่วไป กลับเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ยาก โดยเฉพาะอย่าง การเข้าถึงในฐานะผู้ให้บริการ ไม่ใช่เป็น ผู้ใช้งาน เนคเทค สวทช. พยายามที่จะทลายข้อจำกัดนี้ ด้วย “AI for Thai” หรือ แพลตฟอร์มให้บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย จากการสะสมองค์ความรู้การวิจัยและพัฒนาด้าน AI มากว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นด้าน Machine Translation Text Proccesing Image Processing เป็นต้น โดยมีความโดดเด่นด้านความเข้าใจภาษาไทย ด้วยภาษาไทยเป็นภาษาที่มีโครงสร้างไวยากรณ์ซับซ้อน หรือ พูดง่าย ๆ ว่า ยาก จนติดท็อปภาษาที่ยากที่สุดในโลก
ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ หัวหน้างานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยีฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี เนคเทค สวทช. ได้เล่าถึงการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศ AI ของประเทศ ในงาน AI Asia Expo – Thailand 2023″ งานมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่รวบรวมผู้นำองค์กรระดับแนวหน้า และผู้ที่ขับเคลื่อน AI ของประเทศไทยและอาเซียน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 66 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
 
AI for Thai ให้บริการ API ด้านปัญญาประดิษฐ์ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ การสนทนา และข้อความ แบ่งออกเป็น ด้านข้อความ 23 บริการ ด้านภาพ 19 บริการ ด้านเสียงและแชตบอท 6 บริการ รวมทั้งสิ้น 48 APIs รวมถึง Copus ทั้งจากงานวิจัยและพัฒนาเนคเทค สวทช. และการเปิดให้ Startup สถาบันการศึกษาต่าง ๆ หรือ กลุ่มนักพัฒนาต่าง ๆ สามารถเข้ามาวางบริการ หรือ APIs บน AI for Thai ได้ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการโปรโมตผลงานอีกด้วย
 
ปัจจุบัน AI for Thai มีการให้บริการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
 
1) ให้บริการฟรี โดยจำกัดปริมาณการใช้งาน (Free with Limit Service) สำหรับแนักพัฒนาและผู้สนใจทั่วไปเนื่องจากทรัพยากรที่จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนโครงสร้างสร้างพื้นฐานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
 
2) Premium Service หากมีการใช้งานมากกว่าปริมาณที่กำหนดให้ใช้ฟรี (Free with Limit Service) จะสามารถใช้บริการแบบ Pay per Use ได้
 
ล่าสุด … ก้าวสู่ปีที่ 4 ของ AI for Thai กับยอดการใช้งานที่ค่อย ๆ พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2561 จนถึงวันนี้ มีการเรียกใช้งาน (Request) กว่า 30 ล้านครั้ง และยอดผู้ใช้งาน (Developers) รวมกว่า 1 หมื่นคน

จุดยืนของ AI for Thai บนระบบนิเวศ AI ประเทศไทย

AI for Thai เป็น เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน (Core Technology) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึง ใช้งานได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้นักพัฒนา บริษัทสามารถแชร์บริการ APIs ของตน เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการโปรโมต หรือ ให้ลูกค้าได้เข้ามาทดสอบ ทดลองใช้งาน โดยมีทรัพยากรสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนโครงสร้างสร้างพื้นฐานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service: GDCC) รวมถึงการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้วย HPC จาก ThaiSC ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center) รวมถึง Private Cloud เพื่อรองรับผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์อีกด้วย
 
นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายที่ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ในรูปแบบการ Training ต่าง ๆ เช่น AIAT NSTDA Acadamy เครือข่ายมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกด้วย เพื่อให้นักพัฒนา หรือ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้าน AI ได้หลากรูปแบบหลายช่องทาง

AI for Thai กับ แพลตฟอร์มกลางด้าน AI ของประเทศ

ประเทศไทยเพิ่งประกาศเปิดตัวแผนปฏิบัติการด้าน AI ของประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและนําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ โดย AI for Thai ส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์ที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การประมวลผลและคำนวณขั้นสูง รวมถึง แพลตฟอร์มกลางด้าน AI ระดับประเทศ
นำมาสู่คำถามที่ว่า … แพลตฟอร์มกลางด้าน AI ระดับประเทศต้องเป็นแบบไหน จึงจะตอบโจทย์เป้าหมายในการเพิ่มเงินลงทุนด้าน AI สำหรับธุรกิจ ร้อยละ 10 ต่อปีของแผน AI ประเทศไทย ดร.กริช เผยว่า แผนการจัดทำแพลตฟอร์ม AI ระดับประเทศ จะเป็น AI Portal & Platform ที่รวมรวบและเชื่อมโยงโซลูชันผลิตภัณฑ์และบริการด้าน AI จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยมี AI for Thai เป็นแพลตฟอร์มหลัก โดย หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการบนแพลตฟอร์มกลางด้าน AI ของประเทศเป็นหลัก ดังนั้น การนำ APIs มาแชร์บนแพลตฟอร์มภายใต้ แพลตฟอร์มกลางด้าน AI ระดับประเทศ นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจของ Startup เอกชน หรือหน่วยงานที่ต้องการให้ผลงานเป็นที่รู้จัก และ ได้รับการใช้งานมากขึ้น และอาจพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงสินค้า บริการ และโครงการจากหน่วยงานรัฐ บริษัทยักษ์ใหญ่ และสตาร์ทอัพ ของผู้ขับเคลื่อน AI ระดับแนวหน้าทั้งจากประเทศไทยและประเทศในอาเซียน ในโอกาสนี้ รศ.ดร. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการ AI for Thai โดยมี ดร.กริช และ คุณศรินทร์ วัชรบุศราคำ นักวิจัย เนคเทค สวทช. นำเสนอความก้าวหน้าของแพลตฟอร์ม

ใช้บริการ AI for Thai > https://aiforthai.in.th/

Share to...

Facebook
Twitter
Email