
6 พฤษภาคม 2568 – ห้องพญาไท 4 โรงแรมอีสตินแกรนด์พญาไท กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับรอง “รายงานการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย (Thailand Readiness Assessment Methodology)” ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการทบทวนและยืนยันผลการศึกษาและวิจัยภายใต้ “การประเมินความพร้อมในการดำเนินการตามคำแนะนำของยูเนสโกว่าด้วยจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์” (UNESCO RAM) โดยงานประชุมในครั้งนี้มีผู้บริหารจาก สวทช. นำโดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ในนามผู้แทนผู้อำนวยการ สวทช. ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ สวทช. ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และผู้แทนจาก ยูเนสโก, สหภาพยุโรป, หน่วยงานภาครัฐ, ภาคเอกชน, สถาบันการศึกษา เข้าร่วมงานกว่า 100 คน
รายงานฉบับนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยูเนสโก สหภาพยุโรป สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ETDA) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งได้ประเมินความพร้อมของด้าน AI ของไทยใน 5 มิติสำคัญ ได้แก่ (1) มิติด้านกฎหมาย (2) มิติด้านสังคมและวัฒนธรรม (3) มิติด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา (4) มิติด้านเศรษฐกิจ (5) มิติด้านเทคนิคและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นฐานข้อมูลและแนวทางสำคัญในการวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการใช้ AI ในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และสอดคล้องกับหลักจริยธรรมสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และ ในฐานะThailand’s RAM Lead Expert กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนการกำกับดูแล AI โดยยึดหลักจริยธรรม ผ่าน “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570” ซึ่งจัดทำขึ้นโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) แผนฉบับนี้วางแนวทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้ AI อย่างกว้างขวาง พร้อมส่งเสริมการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบ โปร่งใส เคารพสิทธิมนุษยชน และเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมอย่างทั่วถึง โดยล่าสุดได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ” เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AI ในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

การประชุมในวันนี้ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การรับรองรายงานฯ ที่ได้จัดทำร่วมกันมากว่า 5 เดือน ตามระเบียบวิธีการประเมินความพร้อม (Readiness Assessment Methodology: RAM) ของยูเนสโก ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกสามารถประเมินความพร้อมและกำหนดนโยบายส่งเสริมการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน จึงเป็นเวทีสำคัญที่ผู้แทนจากทั้ง 5 มิติ จะได้ร่วมกันพิจารณา ทบทวน และให้ข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานฯ เพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ สะท้อนบริบทของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางพัฒนา AI ของประเทศต่อไป

ด้าน คุณพินิจ จันทรังสี ที่ปรึกษาระดับภูมิภาค สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า “AI ไม่ใช่เพียงแค่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้นแต่ถือเป็นการปฏิวัติทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ยูเนสโก ในฐานะองค์กรของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม จึงได้พัฒนา RAM ขึ้น โดยคำนึงถึงหลักการด้านจริยธรรมเป็นสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิวัติทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งนี้จะส่งเสริมและปลดปล่อยศักยภาพของมนุษยชาติแทนที่จะสร้างอุปสรรคหรือบั่นทอนความเป็นมนุษย์ ยูเนสโกได้จัดทำมาตรฐานระดับโลกฉบับแรกเกี่ยวกับจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ หรือ คำแนะนำเกี่ยวกับจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ (Recommendation on the Ethics of AI) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ประเทศไทยและอีก192 ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันรับรองและเป็นแนวทางที่ต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงในระดับประเทศ ยูเนสโกจึงสนับสนุนประเทศไทยและอีก 69 ประเทศสมาชิกในการประเมินความพร้อมฯ หรือ RAM ให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่กำลังดำเนินการประเมิน RAM อยู่ในขณะนี้
“ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญจะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อมูลทั้งหมดผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิของยูเนสโก (Peer Review) รวมถึงการปรับแก้ให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการรับรองอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลไทย และจะมีการเปิดตัวรายงานฉบับสมบูรณ์ในเวทีระดับโลก Global Forum on the Ethics of AI 2025 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นร่วมกับยูเนสโก ระหว่างวันที่ 24 – 27 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้แสดงบทบาทนำด้านจริยธรรม AI ในเวทีนานาชาติ โดยเชื่อมั่นว่าการประชุมนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนา AI ของประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมีจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคม และแสดงถึงความพร้อมของไทยในระดับสากลได้อย่างเป็นรูปธรรม” ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้าย


ภายในการประชุมฯ มีนำเสนอรายงานสถานภาพ AI ของประเทศไทย และข้อเสนอแนะ โดย ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และผู้จัดการโครงการ รวมถึง เปิดเวทีแสดงข้อคิดเห็น ต่อผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากผู้แทนในแต่ละมิติ วิทยากรร่วมอภิปราย ได้แก่ มิติทางกฎหมาย โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) มิติสังคมและวัฒนธรรม โดย รศ. ดร.ธนาธร ทะนานทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิติวิทยาศาสตร์และการศึกษา โดย ผศ. ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มิติเศรษฐกิจ โดย ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มิติเทคนิคและโครงสร้างพื้นฐาน โดย ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช.




ช่วงท้ายของกิจกรรมได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังแสดงความคิดเห็นต่อรายงานสถานะโครงการ และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของประเทศไทยอีกด้วย
รายละเอียด : เกี่ยวกับ The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025”