โลกกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เปรียบเสมือนระเบิดลูกใหญ่ที่อาจจุดชนวนให้เกิดทั้งผลกระทบดีและร้ายแรง ทั้งยกระดับประสิทธิการทำงาน ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก เพิ่มรายได้ของแรงงาน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจพรากงานไปจากบางกลุ่มที่ตกขบานความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้ และทวีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น
ความก้าวหน้าของ AI ที่รวดเร็วเกินคาด สร้างทั้งความตื่นตาตื่นใจและความหวั่นวิตก กระตุ้นคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันออกแบบชุดนโยบาย เพื่อปลดล็อกศักยภาพอันมหาศาลของ AI ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงประโยชน์และข้อดีของเทคโนโลยีนี้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วิเคราะห์ผลกระทบของ AI ที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดแรงงานทั่วโลก กว่า 40% ของการจ้างงานทั่วโลกได้รับผลกระทบจาก AI โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ทักษะสูง (high-skilled jobs) ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงได้รับผลกระทบมากกว่าและมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก AI มากกว่าเช่นกัน เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา
ประมาณ 60% ของตำแหน่งงานในประเทศพัฒนาแล้วอาจได้รับผลกระทบจาก AI ครึ่งหนึ่งได้รับประโยชน์จากการบูรณาการ AI ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง AI อาจเข้ามาแทนที่งานนั้น ๆ ทำให้การจ้างงานลดลง รายได้ที่ลดลง และรุนแรงที่สุดคือ AI อาจทำให้บางตำแหน่งงานหายไปในที่สุด
ในทางกลับกัน คาดว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) และประเทศกำลังพัฒนา มี งานที่ต้องใช้ AI (AI exposure) อยู่ที่ 40% และ 26% ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศใน 2 กลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบจาก AI น้อยกว่า เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมในการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรก็ตามก็เพิ่มความเสี่ยงที่เทคโนโลยีจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในระยะยาว
AI ตัวเร่งรายได้เหลื่อมล้ำ คนรุ่นใหม่ คนมีมีสกิล AI งานเพิ่ม เงินพุ่ง
AI ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งภายในประเทศ โดยแรงงานที่มีสกิล AI จะมีประสิทธิภาพการทำงานและค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนคนที่ตกขบวนการใช้ประโยชน์จาก AI ก็จะตกเป็นรอง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า AI ช่วยให้แรงงานที่มีประสบการณ์น้อยสามารถยกระดับประสิทธิภาพการทำงานได้เร็วขึ้น โดยคนรุ่นใหม่จะใช้ประโยชน์จาก AI ได้ง่ายกว่ากลุ่มพนักงานที่มีอายุมากซึ่งอาจปรับตัวกับเทคโนโลยีได้ยาก
นอกจากนี้ AI จะช่วยเสริมพลังการทำงานของกลุ่ม “แรงงานที่มีรายได้สูง” อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้รายได้ของแรงงานบางกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างดุล เกิดช่องว่างทางรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ที่ใช้ AI อาจทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจเอื้อต่อผู้มีรายได้สูงด้วย
จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า AI มีแนวโน้มสูงที่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างน่าเป็นห่วง รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายจึงเร่งดำเนินการในเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยี AI ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคม
IMF ออกดัชนีการเตรียมความพร้อม AI (AI Preparedness Index) ช่วยผู้กำหนดนโยบายรับมือ AI อย่างเหมาะสม
AI กำลังแทรกซึมเข้าสู่ธุรกิจทั่วโลกด้วยความรวดเร็ว กดดันให้ผู้กำหนดนโยบายต่างออกโรงเตรียมรับมือ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้พัฒนา “ดัชนีการเตรียมความพร้อม AI” (AI Preparedness Index) เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ ออกแบบนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งวัดความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล นโยบายด้านทุนมนุษย์และตลาดแรงงาน นวัตกรรมและการบูรณาการทางเศรษฐกิจ รวมถึงกฎระเบียบและจริยธรรม
เช่น นโยบายด้านทุนมนุษย์และตลาดแรงงาน จะประเมินปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาเรียนต่อปี ความคล่องตัวของตลาดแรงงาน และสัดส่วนของประชากรที่ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคม ส่วนองค์ประกอบด้านกฎระเบียบและจริยธรรม จะประเมินความยืดหยุ่นของกรอบกฎหมายประเทศต่อรูปแบบธุรกิจดิจิทัล และการมีธรรมาภิบาลที่แข็งแกร่งเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
จากผลการประเมินของ 125 ประเทศ พบว่า ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศเตรียมพร้อมรับมือการนำ AI มาใช้มากกว่าประเทศรายได้ต่ำ โดยประเทศสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก ได้คะแนนสูงสุดในดัชนีนี้ จากผลลัพธ์ที่ความพร้อมที่แข็งแกร่งใน 4 ด้านดังกล่าว
ข้อมูลเชิงลึกจากดัชนีการเตรียมความพร้อมของ AI แนะนำว่าประเทศพัฒนาแล้วควรจัดลำดับความสำคัญของนวัตกรรมและการบูรณาการ AI คู่ขนานไปกับการพัฒนากรอบการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง แนวทางนี้จะทำให้เกิดการใช้งาน AI ที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ ซึ่งช่วยรักษาความไว้วางใจของสาธารณชน สำหรับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา สิ่งสำคัญอันดับแรกควรเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและแรงงานที่มีความสามารถด้านดิจิทัล
ความพร้อมของ AI ประเทศไทย
ประเทศไทยได้มีการกำหนด “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและนําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) จริยธรรมและกฎระเบียบ AI 2) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI 3) การพัฒนากำลังคน AI 4) การวิจัยพัฒนากำลังคน AI 5) การส่งเสริมธุรกิจและการใช้งาน AI
โดยการดำเนินงานใน 1 ปีที่ผ่านมา มีผลลัพธ์การดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ อาทิ
1) ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย การจัดหลักสูตรจริยธรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์
2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน
3) ด้านการพัฒนากำลังคน ภาพรวมข้อเสนอการพัฒนากำลังคนด้าน AI ผ่านการเห็นชอบเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI ในทุกระดับและทุกสาขาตรงตามความต้องการของเอกชน
4) ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) และการประยุกต์ใช้ AI ที่จะเป็นก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนวงการแพทย์ คือ การพัฒนาเครือข่ายและแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ หรือ Medical AI Data Sharing ในความร่วมมือการวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สวทช. ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรมในโครงการและหลักสูตร AI จำนวน 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ตอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท (รายละเอียดเพิ่มเติม)
สำหรับแผนงานในปี 2567 ของแผน AI แห่งชาติ ได้แก่
- การจัดให้มีกิจกรรมการสร้างความตระหนักด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล Al ให้กว้างขวางมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งาน Al และภาคประชาชน รวมถึงการยกระดับศูนย์ธรรมาภิบาล AI หรือ (AIGC) เพื่อให้คำปรึกษาด้าน Alทั้งในระดับพื้นฐาน เช่น การให้ความรู้หรือการตอบคำถามทั่วไปด้าน Al และในระดับเฉพาะทางเทคนิคหรือความรู้เฉพาะด้าน เช่น ด้านมาตรฐานของการใช้งาน Al และด้านการพัฒนาธรรมาภิบาล AI ในองค์กร เป็นต้น
- การส่งเสริมเพื่อขยายผล Al Service Platform เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการนำบริการด้าน Al มาจัดให้บริการ โดยมุ่งให้เป็นช่องทางและแหล่งรวมบริการด้าน AI ที่สืบหาได้สะดวกและขยายจากเดิมที่ Al Service Platform เริ่มจากนำบริการAl ของภาครัฐมาจัดให้บริการบนโครงสร้างพื้นฐานคลาวน์ภาครัฐ (GDCC)
- การเสนอแผนการพัฒนาบุคลากร AI ในระดับกลางและสูง (Al Talent) รวมทั้งแผนงานโครงการเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการ Al แห่งชาติให้เกิดการพัฒนาบุคลากร Al เพิ่มเติมจากกิจกรรม AI Engineer ที่ได้ดำเนินการโดย AIAT ที่เป็นรูปธรรม แต่ยังมีจำนวนวิศวกร AI ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาบุคลากรในกลุ่มสายงานสนับสนุน (Al Supporting Staff) ให้มีความรู้เที่ยวกับการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการใช้งานเครื่องมือ AI ที่มีความแพร่หลายมากขึ้น
- การส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้าน Al ที่สร้างผลกระทบสูงต่อภาคอุตสาหกรรม เพิ่มเติมจาก 3 กลุ่มเศรษฐกิจนำร่อง (เกษตร สุขภาพ/การแพทย์และภาครัฐ) โดยโจทย์การวิจัยพัฒนาที่เป็น fagship เช่น
- การรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนา (Tourist Map)
- การพัฒนาระบบ Al สำหรับ Fraud Detection/ Fraud Behavior Modelling ในธุรกรรมการเงิน
- การพัฒนาระบบ Al สำหรับการวิเคราะห์ภาพ (Industry Visual Inspection
- การพัฒนาระบu Public Safety Platform โดยการบูรณาการข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น CCTV เซ็นเซอร์
- การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยและความผิดปกติ (Anomaly Detection)
- การพัฒนา Thai large language Model (Thai LLM) ของภาครัฐต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ระบบแนะนำให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในบริบทการบริการภาษาไทย
- การร่วมขับเคลื่อน Tech Startup เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์งานบริการด้าน AI ในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อผสานพลังในการสนับสนุน