ตั้งแต่การเปิดตัว ChatGPT เมื่อปีที่แล้ว สำนักข่าวต่าง ๆ พยายามทำความเข้าใจกับความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI แม้จะมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของเนื้อหาและความซับซ้อนของเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็มองเห็นข้อดีในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มความเชื่อมโยงกับผู้ชม
จากการศึกษาของ Reuters Institute พบว่า ผู้บริหารสำนักข่าวเน้นย้ำว่า กระบวนการหลังบ้านสำคัญ ๆ (back-end automation tasks) ใช้ GenAI กว่า 56% โดยใช้ทำ transcription และ copyediting เป็นอันดับต้น ๆ รองลงมา คือ ระบบแนะนำ 37% การสร้างคอนเทนต์ 28% แต่ยังทำภายใต้การควบคุมของพนักงาน และการใช้ประโยชน์ทางการค้า 27% รวมถึงใช้ในแอปพลิเคชันสำคัญอื่น ๆ เช่น การเขียนโปรแกรม 25% และ การรวบรวมข้อมูลเพื่อผลิตข่าว (newsgathering) 22%
โดยสองปีก่อนมีเพียง 29% เท่านั้นที่ตอบว่าการใช้ AI มีความสำคัญต่อวงการสื่อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพัฒนาการของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLMs) ที่ทำให้มองเห็นโอกาสในการนำ AI มาใช้เพิ่มประสิทธิ ภาพ ความรวดเร็ว ของการทำงานในสำนักข่าว
ตัวอย่างอย่างนำ GenAI มาใช้ในวงการสื่อมวลชน
- การสรุปประเด็น (Summarisation): สำนักข่าวหลายแห่ง เช่น Aftonbladet (สวีเดน), VG (นอร์เวย์) และ Helsingin Sanomat (ฟินแลนด์) เริ่มเพิ่มสรุปสาระสำคัญในลักษณะ bullet points ไว้ด้านบนของบทความ โดย Aftonbladet พบว่า ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมโดยรวม และผู้อ่านที่ค่อนข้างอายุน้อย มีแนวโน้มที่จะคลิกเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น
- การสร้างหัวข้อข่าว (Headline testing): สำนักข่าวหลายแห่งทดลองใช้ AI สร้างหัวข้อข่าวที่เหมาะกับการค้นหา แล้วให้บรรณาธิการตรวจสอบอีกครั้ง
- การแก้ไขสำเนา การจดบันทึก และการถอดเสียง (Copyediting, notetaking, and transcription): เครื่องมือ AI เข้ามาช่วยกระบวนการทำงานภายในสำนักข่าวมากขึ้น และอาจทำให้บางตำแหน่งงานหายไปในที่สุด ในความเห็นของ Axel Springer, CEO Mathias Dopfner ตำแหน่งที่ควรใช้ AI ทำแทนได้ เช่น นักพิสูจน์อักษร (proofreaders) และ บรรณาธิการ (editors) จะไม่มีอยู่อีกต่อไป โดยเครื่องมือถอดเสียงสำหรับภาษาที่ไม่ค่อยแพร่หลาย มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเครื่องมือถอดเสียงสื่อนำมาใช้งาน เช่น Jojo (สำนักข่าว VG นอร์เวย์) Good Tape ซึ่งพัฒนาโดย Zetland แบรนด์ดิจิทัลจากเดนมาร์ก
- การแปลภาษา (Translation): สำนักข่าว Le Monde ประเทศฝรั่งเศส นำเทคโนโลยี AI มาช่วยแปลบทความ ทำให้มีบทความใหม่ราว 30 บทความต่อวันในฉบับภาษาอังกฤษซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก โดย AI จะทำหน้าที่แปลในเบื้องต้นและมีการตรวจสอบโดยทีมงานอีกหลายขั้นตอน ซึ่งซอฟต์แวร์ AI จะถูกปรับแต่งให้เข้ากับสไตล์การเขียนของ Le Monde
- การสร้างภาพประกอบจาก AI (Image generation): หลายสำนักข่าวทั่วโลกเริ่มผสานเทคโนโลยี AI อย่างเครื่องมืออย่าง Midjourney ในการสร้างภาพประกอบบทความ ในประเด็นต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยี ไปจนถึงเรื่องทำอาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการสร้างคอนเทนต์ที่แพร่หลายมากขึ้น
- การเขียนบทความ (Article generation): สำนักข่าวเยอรมัน Express.de เปิดตัว “Klara Indernach” AI นักเขียนบทความ (virtual journalist) ที่ปัจจุบันรังสรรค์บทความมากกว่า 5% ของทั้งหมดที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ครอบคลุมหลากหลายประเด็น แม้บทบาทการตัดสินใจเลือกประเด็นข่าวและการตรวจทานเนื้อหายังคงเป็นของบรรณาธิการ แต่กระบวนการเขียน โครงสร้าง และน้ำเสียงของบทความล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังของ AI แทบทั้งสิ้น รวมถึงกระบวนการคัดเลือกและจัดเรียงพาดหัวข่าว และลิงก์ต่าง ๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ด้วย โดยซีอีโอของ Express.de เปิดเผยว่าการนำ AI มาใช้ส่งผลให้อัตราการคลิกอ่าน (click-through rate) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- พิธีกร และ นักจัดรายการ AI (AI presenters and newsreaders): วิทยุ Radio Expres ของสโลวาเกีย นำเสียงของนักจัดรายการชื่อดังมาสร้างเป็นเสียง AI จำลอง ชื่อว่า “Hacsiko” ทำหน้าที่จัดรายการช่วงดึก ทั้งเปิดเพลง เล่าข่าวจากเว็บไซต์บริษัท นอกจากนี้ยังมีสถานีวิทยุในประเทศอังกฤษใช้เสียงสังเคราะห์ โดยแปลงข้อความเป็นข่าววิทยุอัปเดททุกชั่วโมง สถานีฯเผยว่า เทคโนโลยีนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการไม่ต้องจ้างนักข่าว อีกทั้งเสียงสังเคราะห์ ทำได้สมจริงจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นคนหรือ AI
- รายการทีวี AI (TV channel generation): “NewsGPT” สถานีโทรทัศน์ที่ทดลองให้ AI สร้างเนื้อหาและนำเสนอเรื่องราวนั้นตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน YouTube โดยไม่มีมนุษย์ควบคุมดูแล พร้อมขึ้นคำเตือนเล็ก ๆ ว่า “เนื้อหาอาจมีข้อผิดพลาดที่ไม่คาดคิด” อย่างไรก็ตาม NewsGPT ไม่ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแหล่งข่าวและการค่าลิขสิทธิ์เนื้อหา นอกจากนี้ Channel.1 AI จากลอสแอนเจลิส เตรียมเปิดตัวบริการระบบ AI ที่เรียนรู้ความชอบของผู้ชม เลือกนำเสนอข่าวที่อยากดูและภาษาตามต้องการ ในปี 2024 อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนต่างกังวลว่า AI อาจเข้ามาแทนที่บางตำแหน่งงาน และความน่าเชื่อถือของสื่อ
ในขณะที่วงการสื่อมวลชนใช้ AI ในกระบวนการต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย บางส่วนกลับถูกวิจารณ์ว่า เร็วเกินไปกับการปล่อยเนื้อหาที่สร้างด้วย AI ให้กับผู้ชมโดยยังไม่มีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบอกที่มา หรือการคำนึงถึงความเสี่ยงจากข้อผิดพลาดของ AI (hallucinations) ตัวอย่างเช่น ในปี 2023 บทความที่ CNET สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติด้วย AI ถูกพบว่ามีข้อผิดพลาดมากมายและนำเสนออย่างไม่โปร่งใส นอกจากนี้ Sports Illustrated (SI) ยังถูกพบว่านำรีวิวสินค้าจากบริษัทอื่น ที่คาดว่าเขียนโดย AI บางส่วน มาใช้โดยไม่แจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วน
จากการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า การนำ AI ไปใช้ในกระบวนการสื่อมีความเสี่ยงแตกต่างกันมาก โดยที่เสี่ยงที่สุด คือ การสร้างเนื้อหาด้วย AI เช่น บทความ ข่าว 56% รองลงมา คือ การรวบรวมข้อมูลเพื่อผลิตข่าว(newsgathering) 28% ความเสี่ยงน้องลงมา คือ กระบวนการหลังบ้าน เช่น การถอดเทป การค้นหาข้อมูล 11% และ การเขียนโปรแกรม (Coding) สะท้อนให้เป็นว่า ปัจจุบันสำนักข่าวโฟกัสไปที่การใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน (back-end automation) มากกว่าการใช้ AI ในการเขียนข่าว หรือ บทความ ที่ยังต้องใช้ความระมัดระวัง
Reuters คาดการณ์เทรนด์ GenAI ในวงการสื่อ ปี 2024
1) ปี 2024 สำนักข่าวทั่วโลกนำ AI ช่วยกระบวนการงาน
ในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่วงการสื่อเริ่มทำความคุ้นเคยเครื่องมือ AI ที่ใช้ในการสร้างสรรค์เนื้อหา ดังนั้นในปี 2024 จะเป็นปีที่สำนักข่าวทั่วโลกก้าวเข้าสู่ยุคที่ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานอย่างเต็มตัว โดยเครื่องมือ AI จะกลายมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของสำนักข่าว เพื่อเสนอแนะวิธีปรับปรุงบทความให้ดึงดูด น่าเชื่อถือ และตรงประเด็น เช่น สำนักข่าว Helsingin Sanomat ที่ใช้เครื่องมือ AI (Hennibot) กับ ระบบจัดการเนื้อหา (content management system, CMS) เพื่อช่วยชี้จุดที่ภาษาควรปรับปรุง หรือเสนอแนวทางเสริมเนื้อหาที่เหมาะสม หรือ สำนักข่าว Rappler จากฟิลิปปินส์ที่ชนะการแข่งขัน AI Journalism ด้วย TLDR (ย่อมาจาก Too long, Don’t read) ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI ที่ช่วยสร้างบทสรุป กราฟฟิก และวิดีโอ จากบทความ หรือ ข่าว
2) ตำแหน่งใหม่ ตั้งคนคุม AI ในสำนักข่าว
ปีนี้คาดว่าจะมีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงขึ้นมาดูแลกลยุทธ์และกิจกรรมด้าน AI ในสำนักข่าว โดยพบว่า 16% ของสำนักข่าวมีตำแหน่งนี้แล้ว และอีก 24% อยู่ระหว่างวางแผน เช่น The New York Times แต่งตั้ง Zach Seward จาก Quartz เป็นผู้อำนวยการกองบรรณาธิการด้าน AI Initiatives คนแรก โดยมีหน้าที่หลัก คือ กำหนดแนวทางการนำ AI มาเสริมศักยภาพงานข่าว ช่วยนักข่าวให้ทำงานเร็วขึ้น แม่นยำขึ้น และเข้าถึงผู้อ่านได้กว้างขึ้น และกำหนดหลักการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม คือ ต้องนำ AI มาใช้อย่างรอบคอบ มีจริยธรรม และไม่ทิ้งหลักการพื้นฐานของการนำเสนอข่าวที่น่าเชื่อถือ
3) ความท้าทายของจริยธรรมในการนำเสนอข่าว
สำนักข่าวหลายแห่งอย่าง Schibsted กำลังสร้าง “ห้องทดลอง AI” (AI Labs) เพื่อเป็นผู้นำในการทดลองและประสานความร่วมมือข้ามสำนักพิมพ์และประเทศ (Cross-company collaboration) เพื่อกำหนดมาตรฐานความโปร่งใสร่วมกันสำหรับการใช้ AI ในสื่อ อย่างการเกิดขึ้นของ “องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” Reporters Without Borders,RSF) เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำองค์กรและนักคิด 16 องค์กรมารวมตัวกันเพื่อกำหนดหลักการและจริยธรรมสำหรับการใช้ AI ในวงการสื่อมวลชนที่สามารถนำไปใช้ทั่วโลก