เดินหน้าแผน AI THAILAND เร่งปูพรม 5 ยุทธศาสตร์หลัก เน้นหนัก “สร้างกำลังคน” รองรับการพัฒนา AI ในประเทศ
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 66 ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้เข้าร่วมในเวที KBTG Meet up “The Age of AI : Augmented Intelligence” โดยมีคุณเรืองโรจน์ พูลผล (คุณกระทิง) ประธานกสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) นำทัพวิทยากรผู้ทรงวุฒิชั้นนำในวงการ AI ของไทย ได้แก่ คุณทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director KBTG, ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณพัทร์ ภัทรนุธาพร Ph.D.Candidate & KBTG Fellow MIT Media Lab ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองในยุคที่ AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์มากยิ่งขึ้น และจะอยู่ร่วมกันแบบสร้างเสริมความฉลาด เติมความสามารถซึ่งกันและกัน รวมถึงการอัพเดทผลงานด้าน AI ที่ร่วมวิจัยระหว่าง KBTG x MIT Media Lab และเรื่องราวทางด้านจริยธรรมการใช้ AI หรือ AI Ethics ให้ผู้ใช้ ผู้พัฒนามีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อการใช้งาน AI อย่างปลอดภัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด . ภายในงานดังกล่าว ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าตามแผน AI ประเทศไทย รวมถึง AI Strategy เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม.
เปิดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศด้วย AI
ประเทศไทยมีการประกาศแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและ ประยุกต์ใช้ AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง กำหนดยุทธศาสตร์ของแผนไว้ 5 ด้าน และผลลัพธ์ความสำเร็จ ได้แก่ 1. มีจริยธรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับการใช้ AI และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน ไม่ต่ำกว่า 600,000 คน 2. โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศ ให้เกิดการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี 3. สร้างกำลังคน สนับสนุนการศึกษา พัฒนาทักษะ เพื่อผลิตบุคลากรด้าน AI ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน 4. วิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นำ AI ไปใช้สนับสนุนตอบโจทย์การพัฒนา ให้เกิด 100 นวัตกรรม AI สร้างผลกระทบ ไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท 5. ส่งเสริมการใช้งาน AI ในภาครัฐ และกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนากลไกในการพัฒนาธุรกิจ และ AI Startup ให้ 600 หน่วยงานได้ใช้นวัตกรรม AI
กว่าครึ่งปีที่ขับเคลื่อนแผน AI มีอะไรเกิดขึ้น
ตั้งแต่ประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการ ได้เริ่มมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ เช่น
1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ
ประเทศไทยมีเครื่อง Supercomputer ที่ใหญ่ที่สุด อันดับ 1 ในระดับอาเซียน ที่มีชื่อว่า “LANTA” ด้วยประสิทธิภาพการคำนวณขนาด 7.7 Petaflops เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทั่วประเทศ โดยศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) สวทช.
2. Nation AI Service Platform @GDCC
เนคเทค และ GDCC กำลังดำเนินการร่วมกันในการทดสอบ และขึ้นระบบแพลตฟอร์มกลางภาครัฐให้บริการ AI ระดับประเทศ เป็น Public Service โดยเป้าหมายหลักเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาเรียกใช้ AI Service ต่าง ๆ และภาครัฐเมื่อมี AI Service ก็สามารถนำมาวางไว้ที่แพลตฟอร์มกลางเพื่อให้บริการประชาชน ในส่วนภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมทดสอบใช้งานได้
3. โครงการพัฒนา Medical AI Data Sharing
ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ในการสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่ทางการแพทย์ เพื่อให้เพียงพอต่อการสร้าง AI ที่มีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิด AI Startup มีแผนดำเนินงานในระยะเวลา 3 ปี โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอว.
4. AI Workforce Development การพัฒนากำลังคนด้าน AI
ซึ่งจากการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย (Government AI Readiness Index) ในปี 2022 ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 31 จากลำดับที่ 55-60 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ปักหมุดหมายผลิตกำลังคนด้าน AI
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผน AI ในการพัฒนากำลังคนด้าน AI ให้เพียงพอและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ (AI Workforce Development) ถือเป็น Flagship ที่คณะกรรมการ AI แห่งชาติ ให้ความสำคัญที่สุด เนื่องจากผลสำรวจความต้องการและผลิตบุคลากรเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ AI จากสอวช. ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 พบว่า มีความต้องการกำลังคนทางด้าน Software & Data Analytic จำนวน 38,465 คน ในขณะที่ปัจจุบันผลิตได้ 15,671 คน ด้าน Intelligent System & Automation มีความต้องการ 9,602 แต่ผลิตได้เพียง 970 คน และความท้าทาย ที่เป็นปัญหาใหญ่ของโจทย์การพัฒนาคน คือ
- ขาดเยาวชน/ คนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนา เพราะโครงสร้างประชากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตลดลงเรื่อยๆ
- วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูล Data Sharing ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างสูง รวมถึงการออกพ.ร.บ. ต่าง ๆ เช่น PDPA, Cyber Security ที่ทำให้เกิดข้อกังวลในการแลกเปลี่ยนข้อมูล
- สภาพแวดล้อมในประเทศที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้าง Startup ให้เกิดขึ้น
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น จึงได้กำหนดแผน (Action Plan) และเป้าหมายการดำเนินงานส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้าน AI ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
(1) กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นสูง (AI Profession) ไม่น้อยกว่า 300 คนต่อปี
ได้แก่ กลุ่มวิชาชีพ นักวิจัย และนักพัฒนาเทคโนโลยี AI พัฒนาด้วยหลักสูตรปริญญาตรี-โท-เอก (สาขา AI) ในมหาวิทยาลัย โดยมีหน่วยงานรับรองหลักสูตร อาทิ สกอ., กพ. ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้สูงมาก เนื่องจากขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยกำลังเปิดหลักสูตรทางด้าน AI
(2) กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นกลาง (AI Engineer) ไม่น้อยกว่า 1,200 คนต่อปี
ได้แก่ กลุ่มนวัตกร และวิศวกรด้าน AI ผ่านการอบรมหลักสูตรระยะสั้น AI ขั้นกลาง – ขั้นสูง อย่างเข้มข้น โดยภาครัฐ/ เอกชน/ มหาวิทยาลัย
(3) กลุ่มบุคลากรทักษะขั้นต้น (AI Beginner) ไม่น้อยกว่า 12,000 คนต่อปี
คือ กลุ่มอาชีพการทำงานอื่น ๆ ที่สามารถใช้งานบริการปัญญาประดิษฐ์ขั้นต้นในอาชีพของตนเองได้ ผ่านการจัดอบรม AI ขั้นต้น – ขั้นกลาง โดยภาครัฐ/ เอกชน/ มหาวิทยาลัย
ซึ่งลำดับต่อไป คือ การนำเสนอแผนงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการขับเคลื่อน AI แห่งชาติ (รัฐบาลชุดใหม่) เพื่อพิจารณางบประมาณในการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อพัฒนาความรู้ ผลิตกำลังคนด้าน AI ได้แก่
ภารกิจที่ 1 : สร้างความตระหนัก สร้างเครือข่ายกระจายความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานด้าน AI (AI Literacy)
ภารกิจที่ 2 : กำหนดกรอบ รับรองหลักสูตรด้าน AI ระดับขั้นต้น และระดับขั้นกลาง
ภารกิจที่ 3 : สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร AI ระยะสั้น ขยายการผลิตบัณฑิตด้าน AI และด้านที่เกี่ยวข้อง
ภารกิจที่ 4 : จัดมาตรการส่งเสริม เช่น ทุนการศึกษาสำหรับระดับขั้นกลาง – ขั้นสูง สิทธิประโยชน์ให้ผู้เข้าอบรม และเอกชนที่ร่วมส่งเสริม
และภารกิจอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ตัวอย่างต้นแบบหลักสูตรการอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้น ที่ดำเนินงานมาก่อนที่จะมีแผน AI ได้รับทุนสนับสนุนจากบพค. นั่นคือ โครงการ Super AI Engineer ใช้ระยะเวลาอบรมทั้งหมดประมาณ 9 เดือน โดยเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจพร้อมพัฒนาความสามารถด้าน AI ทุกสาขาอาชีพ ไม่จำกัดอายุ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ กลุ่มนักพัฒนา ผู้ประกอบการ เริ่มต้นจากการอบรมออนไลน์โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ผ่านการสอบคัดเลือกให้เข้าสู่รอบ AI Workshop & Hackathon มาเข้าค่ายอบรมความรู้ AI ทุกรูปแบบ ฝึกการ Coding วิเคราะห์แก้ไขปัญหา ต่อด้วยการเข้าไปปฏิบัติงานรับโจทย์จริงจากองค์กรในการพัฒนา AI และนำมา Pitching แข่งขันเพื่อพิสูจน์ความสามารถในการเป็น Super AI Engineer ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมามีผู้สมัครร่วมกิจกรรมผ่านการอบรมหลักสูตรออนไลน์ไปแล้วมากกว่า 8,000 คน มีหลักสูตรออนไลน์สอน AI จำนวน 72 หลักสูตร สร้าง Startup 9 บริษัท และที่สำคัญคือ มีบุคลากรที่กลับมาช่วยโครงการ 40 คน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขยายผลต่อยอดการอบรมในลักษณะเช่นนี้ต่อไป
ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน AI THAILAND ได้ที่ https://www.ai.in.th
Facebook AI Thailand Community
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก Facebook KBTG