เทคโนโลยี AI เปิดโลกใหม่ในยุคดิจิทัล – งาน “DGT 2023: Happiness Creation”

 24 ก.พ. 66 : ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มากกว่า 40 หน่วยงาน ร่วมสร้างปรากฏการณ์แห่งปี เร่งเครื่องความสุขให้คนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในงาน “Digital Governance Thailand หรือ DGT 2023” ภายใต้แนวคิด Happiness Creation เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด และอัปเดตสถานการณ์ดิจิทัล ทั้งจากผู้ให้บริการเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ ผู้นำนวัตกรรม หน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการร่วมแสดงผลงานนวัตกรรมบริการที่ครอบคลุมทุกด้านในโลกดิจิทัล ทั้งการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการทำงาน การต่อยอดทางธุรกิจ นำไปสู่การสร้างความร่วมมือ การขยายเครือข่ายพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เป็นประธาน ร่วมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และประธานคณะกรรมการกำกับ ETDA ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA และผู้บริหารจากหน่วยงานสนับสนุนเข้าร่วมในพิธีเปิดงาน

โอกาสนี้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง เปิดประตูสู่โอกาสเพิ่มขึดความสามารถการแข่งขันในยุคดิจิทัล ด้วยแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย หรือ AI for Thai เพื่อยกระดับธุรกิจบริการดิจิทัล โดยได้นำเสนอภาพรวมของการพัฒนา และการเติบโตของเทคโนโลยี AI ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ดังนี้

เทคโนโลยี AI เปิดโลกใหม่ในยุคดิจิทัล

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีด้าน AI พัฒนาไปไกลมาก มีโจทย์ใหญ่ๆ ที่ทำให้เห็นก้าวหน้านอกเหนือจากหลักการของ AI ที่พยายามเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ฟัง พูด อ่าน เขียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของการเคลื่อนไหว (Motion) ตัวอย่างเช่น บริษัท Boston Dynamics ที่ทำเรื่องการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ให้สามารถขยับได้เหมือนมนุษย์ มีคลังข้อมูล (Library) ที่เป็นพฤติกรรมอย่างหลากหลาย หรือ ImageNet คลังข้อมูลภาพขนาดใหญ่มีภาพกว่า 1,200,000 ข้อมูลที่ปลอดลิขสิทธิ์ แยกเป็นหมวดหมู่ ซึ่งได้นำฐานข้อมูลนี้เปิดให้คนทั่วโลกเข้ามาแข่งขันแยกแยะภาพ ตั้งแต่ปี 2015 ผลลัพธ์ของการพัฒนาปัจจุบันถูกนำไปใช้ใน Google Image Search และอีกตัวอย่างที่กำลังเป็นที่จับตามอง นั่นคือ ChatGPT General Chatbot พัฒนาโดยบริษัท OpenAI ที่ใช้ข้อมูลมหาศาลกว่า 570GB training text เพื่อฝึกให้ตอบคำถามตามที่ต้องการ (Specific Task) ได้เป็นอย่างดี เช่น การแปลภาษา, สรุปความ, Debug Code หรือตอบคำถามทั่วไป

ตัวอย่างการใช้ AI ในประเทศไทย

เนคเทค ถือเป็นองค์กรหนึ่งในฐานะหน่วยงานวิจัยพัฒนาที่ทำเรื่อง AI ในประเทศไทยอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2019 เนคเทคได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม AI for Thai และพัฒนา AI Avatar คุณสุทธิชัย หยุ่น นักข่าว AI คนแรกของเมืองไทย เพื่อให้เห็นตัวอย่างการใช้งานจากระบบที่สามารถผลิตเสียงของคุณสุทธิชัยได้ตามข้อความ หรือตัวอย่างการใช้ AI ในภาคการเกษตร ที่เนคเทคได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตร และ 12 กรมภายใต้กระทรวงเกษตร พัฒนาคลังข้อมูลเกษตรขนาดใหญ่ ชื่อว่า Agri-Map เพื่อเป็นแผนที่เกษตรเชิงรุกใช้ข้อมูลทำนาย/ คาดการณ์ว่าพื้นที่ของประเทศไทยแต่ละแห่งปัจจุบันปลูกพืชขนิดใด ได้ราคาเท่าไหร่ และหากเปลี่ยนเป็นพืชชนิดอื่นในเวลาเดียวกันจะได้ราคาเท่าไหร่ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมถึงการใช้ AI ในการจำแนกพื้นที่เพาะปลูกเป็นเกษตร Zoning จากข้อมูลดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูง นอกจากนี้ยังมีการใช้ AI ในการแพทย์ อย่างเช่น กรมควบคุมโรค ได้นำ AI เข้าไปช่วยตรวจวินิฉัยการกระจายของโรคพยาธิใบไม้ในตับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในการให้บริการผู้ป่วย โดยมีความถูกต้องในการตรวจจับไข่พยาธิ 90% และแยกแยะไข่พยาธิได้ถึง 80% หรือที่เนคเทคได้ผลิตหุ่นยนต์ (Robot) วิ่งเข้าไปตรวจสอบ Generator ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ว่ามีรอยแตก มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ก็จะช่วยลดระยะเวลาของการบำรุงรักษาเครื่อง Generator ให้แก่เจ้าหน้าที่ เป็นต้น ยังมีโจทย์อีกมากมายในประเทศไทยที่เป็นโอกาสของการนำ AI เข้าไปช่วย อาทิ ระบบล่ามแปลภาษาไทย-พม่า, การทำนายโรคข้าว, ระบบรู้จำใบหน้า, ระบบถอดความคลิป, ตรวจสอบการคัดลอก, คัดแยกคุณภาพความสดของปลาทะเล

ทำไมต้องมี AI for Thai

มีบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกที่ให้บริการทางด้าน AI เช่น Amazon AI, Google AI, Microsoft Azure AI หรือ IBM Watson แต่ถ้าทำโดยใช้บริการของต่างชาติ ท้ายสุดคือต้องมาปรับ (Customize) ให้เข้ากับบริบท ตามโจทย์ และการใช้งานของประเทศไทย ดังนั้น AI Service เหล่านี้จะต้องพัฒนาขึ้นในประเทศของเราเอง และการลงทุนพัฒนาด้าน AI หากต้องเริ่มพัฒนากันใหม่ต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ใช้ระยะเวลานาน เนคเทคจึงได้เข้ามาช่วยสร้างเครื่องมือพื้นฐาน และเปิดให้บริการแบบสาธารณะ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่วงการ AI ได้เร็วที่สุด จึงเป็นที่มาของการเปิดให้บริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย หรือ AI for Thai ที่เว็บไซต์ https://aiforthai.in.th/ โดยเป้าหมายแรกเพื่อเผยแพร่ AI Service ของเนคเทคที่ทำงานกันมามากกว่า 20 ปี มาเปิดให้บริการสาธารณะ (Open Service) ในรูปแบบ APIs Services ให้เชื่อมต่อได้ฟรี ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวง DE โดย บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ GDCC ที่ร่วมสนับสนุนบริการ Cloud Service ของแพลตฟอร์มนี้
ปัจจุบันบริการที่มีอยู่ใน AI for Thai จำนวน 48 APIs Services ครอบคลุมใน 3 ด้าน คือ ภาษา (Language), รูปภาพ (Vision) และการสนทนา (Conversation) ได้แก่ การประมวลผลภาษา, แปลภาษา, แนะนำป้ายกำกับ, วิเคราะห์ความคิดเห็น, แปลงภาพอักษรเป็นข้อความ, วิเคราะห์ใบหน้า, วิเคราะห์บุคคล, รู้จำวัตถุ แปลงเสียงพูดเป็นข้อความ, แปลงข้อความเป็นเสีงพูด, ถาม-ตอบ ยังรวมไปถึงบริการจากหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ iAPP, ZTrus, KBTG, AI9 ที่นำมาเผยแพร่ให้ใช้งานฟรี และฐานข้อมูลเปิด (Corpus) ที่สามารถนำไปเป็น resource ใช้ train AI Service ได้ โดยสถิติการใช้งานมีนักพัฒนาเข้ามาใช้งานอยู่ที่ 10,566 คน รวมการเรียกใช้งาน APIs อยู่ที่ประมาณ 33.6 ล้าน request บริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Word Segment, Social Sensing และ Text Cleansing ตามลำดับ และสำหรับบริการที่จะเปิดใหม่ในอนาคต เช่น การรู้จำเสียงพูดแบบทับซ้อน, การปรับปรุง model เสียง และรองรับการส่งข้อมูลแบบ Streaming, สร้างภาพใบหน้าและรูปปากตามเสียงพูด, ASEAN Language Translation สำหรับบริการท่องเที่ยว, บริการตรวจวิเคราะห์ภาพ X-Ray ปอด, วิเคราะห์ภาวะเบาหวานจากภาพถ่ายจอประสาทตา

ประโยชน์ของ AI for Thai

เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาบุคลากร AI ในเชิงลึกและตรงกับความต้องการทางเทคโนโลยีของไทย โดยนักวิจัย และนักพัฒนาไม่ต้องลงทุนสูงกับการเปิด AI Service นำมาเปิดบริการ ทดสอบ ได้ที่แพลตฟอร์ม AI for Thai นี้ และบริษัท Startup/ SME สามารถเข้ามาเชื่อมต่อ นำ APIs ไปพัฒนาทดลองสร้างนวัตกรรม หรือบริการได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดอยู่ภายในประเทศ ภาคธุรกิจสามารถนำกลับไปใช้พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง และนอกจากจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจบริการ AI ภายในประเทศ ที่สำคัญที่สุด คือ ช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเทคโนโลยี และไม่เป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยีอีกต่อไป
ต่อด้วยเวทีเสวนาในหัวข้อ “เมื่อ AI เปลี่ยนโลก ต้องส่งเสริมอย่างไร ให้เท่าทันสถานการณ์ : ChatGPT กับประเด็น ELSI ของประเทศไทย” โดย ดร.ปรัญชา บุญขวัญ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย (LST) เนคเทค สวทช. ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองกับผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ETDA, ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย ดร. ปานรพี รพีพันธุ์ จากรายการ iT24Hrs ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
ภายในงาน #DGT2023 ยังได้รวบรวมผลงาน ผลิตภัณฑ์ และโซลูชันที่น่าสนใจมากมายจากหน่วยงานพันธมิตร มาจัดแสดงนิทรรศการให้แก่ผู้เข้าชมงานได้ Update & Upgrade เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล โดย เนคเทค สวทช. ได้ร่วมนำเสนอ 2 ผลงาน ได้แก่
 
– AI for Thai : แพลตฟอร์มบริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย
นำเสนอโดย คุณศรินทร์ วัชรบุศราคำ ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ และคุณชาญชัย จันฤษชัย งานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี
– ไลน์บอทโรคข้าว
นำเสนอโดย คุณวศิน สินธุภิญโญ ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ

Share to...

Facebook
Twitter
Email