บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
AI สมัยนี้โตไวนะ
สถานการณ์ธุรกิจด้าน AI ในประเทศไทยนั้นไม่ธรรมดา จากการตื่นของคนทั่วโลกถึงความสามารถของ AI ที่ใกล้เคียงไปจนถึงแซงหน้ามนุษย์ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้คนต่างคาดหวัง และ ต้องการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการ ของตนมากขึ้น จากการแลกเปลี่ยนมุมมองกับภาครัฐ และผู้ประกอบการเอกชนด้าน AI ผ่านโครงการ AI Standard landscape ของ ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัย เนคเทค สวทช. พบว่า กว่า 75% มีการนำ AI ไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 25% นั้น อยู่ในระหว่างการเตรียมพร้อมไปสู่การใช้ AI เช่นกัน
สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมฯ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า Startup ด้าน AI ของไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 25% ประมาณ 45,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี (ปี 2021 – 2022) ซึ่งเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมด้านไอที ฮาร์ดแวร์ หรือ ซอฟต์แวร์ถึง 12.5 เท่า
สถานการณ์เหล่านี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ Startup ด้าน AI ของไทย ต้องอึด ถึก ทน เป็นพิเศษ ที่จะต้องรองรับความต้องการ ความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อ AI สำหรับภาครัฐนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือผ่าน แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่เริ่มต้นด้วยยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
สถานการณ์AIในวันที่ยังไม่มีมาตรฐาน
มาตรฐาน AI มีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อผู้คนในระบบนิเวศ AI แตกต่างกันไป ดร.อภิวดี เล่าว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการด้าน AI สามารถแบ่งกลุ่มได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผู้ใช้งาน ผู้พัฒนาและผู้ใช้งาน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐาน แน่นอนว่าผู้ใช้งานย่อมต้องการมาตรฐานที่สูง เพื่อยืนยันคุณภาพให้สอดคล้องกับเงินที่ต้องจ่าย หรือมีคำศัพท์ที่สามารถสื่อสารความต้องการกับผู้ประกอบการได้แบบเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้ในมุมของการขายงานผู้พัฒนาจากประสบการณ์ของ ดร.กอบกฤตย์นั้น เมื่อไม่มีมาตรฐาน AI ทำให้กระบวนการการลงทุน ซื้อขาย AI ในประเทศไทยยากลำบาก เวลาบริษัทเข้าไปขายงาน “ลูกค้าเขาไม่รู้ว่าเจ้าไหนดีกว่ากัน หากเจ้าแรกบอกว่าประสิทธิภาพ 99.9% อีกเจ้าหนึ่ง 98.5% แต่เจ้าแรกอาจจะทดสอบแค่ 100 ตัวอย่าง แต่เจ้าถัดมามาแม้ประสิทธิภาพน้อยกว่า 5% แต่อาจจะทดสอบ 10,000 ตัวอย่างและเป็นตัวอย่างที่ยากกว่าก็ได้ เมื่อลูกค้าไม่สามารถตัดสินใจโดยดูแค่กระดาษจากที่ผู้ประกอบการแจ้งมาได้ ทำให้ต้องลำบากเก็บข้อมูลเพื่อสร้างชุดทดสอบขึ้นมาเพื่อประกอบการตัดสินใจ”
สำหรับมาตรฐานที่เกี่ยวของกับปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน ทั้งที่เผยแพร่และใช้งานแล้วรวมถึงอยู่ระหว่างเตรียมเผยแพร่มากกว่า 20 มาตรฐาน คุณกิตติพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง Product Technical Manager British Standard Institution (BSI) ได้ยกตัวอย่าง เช่น
- ISO/IEC 38507:2022 ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานหน่วยงานกำกับดูแลในการเปิดใช้งานและควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้งานนั้นมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับภายในองค์กร
- ISO/IEC TR 24368:2022 เป็นภาพรวม หลักการ กระบวนการ และวิธีการ เกี่ยวกับจริยธรรมของ AI (AI ethical) และข้อกังวลของสังคม (societal concerns) เช่น สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติของการใช้ระบบ AI
- ISO/IEC DIS 42001 ระบุข้อกำหนดและให้คำแนะนำสำหรับการสร้าง ดำเนินการ บำรุงรักษา และปรับปรุงระบบการจัดการ AI อย่างต่อเนื่องภายในบริบทขององค์กร ช่วยให้องค์กรพัฒนาหรือใช้ระบบ AI อย่างมีความรับผิดชอบในการบรรลุวัตถุประสงค์และปฏิบัติตามข้อกำหนดข้อบังคับ ภาระผูกพันและความคาดหวังที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ยกระดับ Startup ด้วยมาตรฐาน AI ที่เหมาะกับบริบทไทย
“ความคุ้นชินของนักวิชาการส่วนใหญ่ เราก็จะวัดประสิทธิภาพด้วย Performance Measurement บางค่า แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงหลายๆครั้งตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้สื่อสารอะไร ขึ้นอยู่กับว่าบริบทที่เรานำไปใช้มีตัวแปรอย่างไร” ดร.อภิวดี กล่าวก่อนนำเสนอมุมมองมาตรฐาน AI ที่จำเป็นต้องสอดคล้องกับบริบทประเทศ โดยยกตัวอย่างความแตกต่างของประสิทธิภาพ Chat GPT ระหว่างการใช้ภาษาอังกฤษ กับ ภาษาไทย ค่าความถูกต้องก็เปลี่ยนไป
เคลียร์ให้ชัดมาตรฐานต้องไม่ขัดขวางการพัฒนา AI
เมื่อถามถึงปัจจัยที่ต้องคำนึงเมื่อประเทศไทยจะมีมาตรฐาน AI ในมุมมองของ ดร.กอบกฤตย์ กล่าวว่า ต้องสื่อให้ชัดเจนว่า มาตรฐาน กับ กฎหมาย คือคนละเรื่องกัน มาตรฐานไม่ควรจำกัดการพัฒนาด้าน AI หากน้อง ๆ ที่จบใหม่ หรือ Startup ใหม่ด้าน AI ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการออกมาขาย แต่ต้องเจอด่านหิน 10 ด่าน การเติบโตด้าน AI ก็ไม่เกิดขึ้น เราไม่อยากให้มีข้อจำกัดอะไรที่มากเกินไปจนกระทบกับการพัฒนา เช่น การสนับสนุนให้ทำตามมาตรฐาน หากบริษัทไหนยังไม่พร้อม แล้วลูกค้ารับได้ ก็สามารถซื้อขายกันได้ แต่หากออกเป็นกฎหมายเท่ากับปิดตายไม่สามารถเจรจากันได้อีก
นอกจากนี้ กระบวนการในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงหากประเทศไทยจะมีมาตรฐาน AI ในมุมมองของดร.อภิวดี “เพราะ Time To market เป็นเรื่องสำคัญทางธุรกิจ หากถ้ากระบวนการตรวจสอบรับรองมาตรฐานนั้นล่าช้าหรือไม่ชัดเจนตรงนี้ แต่เทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อย่างกรณี ChatGPT เกิดการประกาศธุรกิจใหม่ ๆ เพียงชั่วข้ามคืน”